svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โควิด-19 พ่นพิษ ทุบประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัย อ่วมหนัก!

23 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พิษจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจบริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปไม่ไหว โดยเฉพาะกรมธรรม์โควิด “เจอ จ่าย จบ” ที่ยังไม่จบ! ทำให้ขาดทุนอ่วมจนต้องปิดตัวลง ทั้งนี้หากช่วงเดือน เม.ย.65 โควิด-19 ระบาดอีกในระลอก 5 อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินได้

จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกปี 2563 การติดเชื้อในไทยยังไม่รุนแรง ทำให้ธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นโอกาสทองต่างออกแบบประกันโควิด ครอบคลุม แบบครบวงจร อีกทั้งยังเพิ่มคุ้มครองการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีทั้งราคาเริ่มต้น เพียงหลักสิบ จนไปถึงหลักพันบาท กวาดเบี้ยประกันแบบถล่มทลาย

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางอีกครั้งเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีสถิติการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดในสถานบันเทิง เขตทองหล่อ ทำให้คนไทยตื่นตัว หันมาทำประกันภัยโควิด-19 เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

โควิด-19 พ่นพิษ ทุบประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัย อ่วมหนัก!

 

โดยรูปแบบประกันที่นิยมจะคุ้มครองแบบ "เจอ จ่าย จบ" หรือจ่ายค่าเคลมทันทีเมื่อพบติดเชื้อ รองลงมาเป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยเมื่อรักษาตัว และคุ้มครองเมื่ออาการโคม่า

ธุรกิจประกันภัยโควิดเหมือนจะมาถูกทางในช่วงแรกเท่านั้น บริษัทประกันภัย หลายบริษัทพบเจอปัญหาวิกฤติ จากการขาย “ประกันโควิด-19” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกันโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ที่ทำให้หลายบริษัทเริ่มจะแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปไม่ไหว ขาดทุนอ่วมจนต้องปิดตัวลง และปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทที่ออกมาขอให้ลูกค้า “เปลี่ยน” แบบกรมธรรม์ประกันโควิดชนิดดังกล่าวเป็นประกันภัยในรูปแบบอื่น ๆ แทน

 

ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า มียอดกรมธรรม์สะสมรวมกว่า 40 ล้านฉบับ ในจำนวนนี้เป็นกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” ราว 10 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งปัจจุบันยังมีผลบังคับอยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ สิ้นปีนี้ยอดเคลมประกันอาจสูงทะลุ 40,000 ล้านบาท แตะระดับ 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทประกันขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นปิดกิจการได้ 

 

โควิด-19 พ่นพิษ ทุบประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัย อ่วมหนัก!

 

ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาโดมิโน เริ่มมีบริษัทประกันบางแห่งได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการไปบ้างแล้ว

 

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศ “มาตรการเสริมสภาพคล่อง” สำหรับบริษัทประกันภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564

 

โดยมาตรการเหล่านี้ คือการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันในช่วงการแพร่ระบาดโควิดจากส่วนที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้บริษัทจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน

หลังการประกาศมาตรการดังกล่าวพบว่า มี 3 บริษัทที่ขอเข้าร่วมโครงการ คือ


  1. บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 

  2. บมจ.ไทยประกันภัย 

  3. บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย

 

และเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 64 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.มีคำสั่ง ห้ามบริษัทประกัน ยกเลิกประกันโควิดแบบ "เจอจ่ายจบ" อีกทั้งห้ามมีการบังคับเปลี่ยนเงื่อนไขโดยไม่สมัครใจ หวั่นกระทบกับผู้ทำประกันและธุรกิจประกันโดยรวม

 

โควิด-19 พ่นพิษ ทุบประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัย อ่วมหนัก!

 

“ขอให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการอย่างเต็มที่ และจะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย แต่อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมที่จะรับฟังและหามาตรการเยียวยาปัญหาให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 ด้วย เพราะการประกอบธุรกิจประกันภัยต้องอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชน”

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 รมว.คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ "เดอะวัน ประกันภัย"  เนื่องจาก บริษัทมีฐานะการเงินไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เพียงพอต่อการไม่จ่ายสินไหมทดแทน โดยบริษัทเดอะวันประกันภัย มีสินไหมประกันโควิดค้างจ่ายราว 2,700 ล้านบาท สะท้อนว่า บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมในการรับประกันภัยอีกต่อไป โดยหลังจากนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามาดูแลผู้เอาประกันของบริษัทเดอะวันประกันภัยต่อไป 

 

โควิด-19 พ่นพิษ ทุบประวัติศาสตร์ธุรกิจประกันภัย อ่วมหนัก!

 

สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันแม้จะดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น หลายบริษัทมีการปิดรับประกันโควิดแล้ว ในส่วนของประกันโควิดที่ทำไว้แล้วนั้นจะหมดอายุสัญญา 1 ปี ในราวกลางปี 2565  ทั้งนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ปัจจุบัน เกือบ 3 พันรายต่อวัน หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดโควิดในครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะสายพันธ์ใหม่ “โอมิครอน” บริษัทประกันภัยจะไม่ซ้ำรอยแผลเดิม

 

ทั้งนี้ระหว่างรอเวลาอายุกรมธรรณ์จะหมดสัญญาลง ที่น่าเป็นห่วงของบริษัทประกันภัย คือ หากช่วงเดือน เม.ย.65 หรือเทศกาลสงกรานต์ โควิด-19 ระบาดอีกในระลอก 5 อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินได้  หากรัฐฯควบคุมโควิดกลายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ บริษัทประกันมีหวังอ่วมอีกรอบ ขาดทุนระนาวเพราะพิษโควิด-19 อีกครั้ง

logoline