svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมเตรียมเปิดเดินเรือเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา ปี 65

09 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คมนาคม แถลงความพร้อมให้บริการเรือ RoRo Ferry “The Blue Dolphin” เส้นทางสัตหีบ-สงขลา เร่งยกระดับมาตรฐานท่าเรือสำราญ (Marina) บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย พร้อมพัฒนาและฟื้นฟูหาดทราย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

9 ธันวาคม 2564 จากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเขตพื้นที่เมือง และนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Hub ของโลจิสติกส์ ดังนั้น การดำเนินการไม่ใช่เพียงมิติของทางบก ทางอากาศ และทางราง แต่ประเทศไทยมีโอกาสในมิติทางน้ำด้วย ซึ่งการขนส่งทางน้ำมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำและเป็นทางเลือกการเดินทางและขนส่งนอกเหนือจากทางบก

คมนาคมเตรียมเปิดเดินเรือเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา ปี 65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออก สู่ภาคใต้ โดยใช้การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายสำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อลดปัญหาการจราจรทางบกซึ่งต้อง เดินรถผ่านเข้าสู่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น ปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนถนนเพชรเกษมและพระราม 2 ประกอบกับปัจจุบันกระทรวงคมนาคมดำเนินงานเรื่องสายการเดินเรือแห่งชาติ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติแยกออกเป็น 3 บริษัท ได้แก่ 1. รองรับการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย แต่ไม่ใช่การจัดตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาดำเนินการ แต่จะมีรูปแบบเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และอีก 2 บริษัท รองรับการเดินเรือในระดับ International ฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีนทางตะวันออก ญี่ปุ่น และอีกฝั่งหนึ่งคือฝั่ง West รับและส่งสินค้าไป BIMSTEC ซึ่งจะไม่ใช่รัฐบาลลงทุนแต่จะเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ
 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า การเปิดให้บริการเรือ RoRo Ferry “The Blue Dolphin” เส้นทางสัตหีบ-สงขลา ของบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด เป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายใประเทศ หรือ Domestic Marine Line ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะร่วมมือกับภาคเอกชน คือ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ในการพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศและเกิดประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งเรือดิ บลู ดอลฟิน “The Blue Dolphin” ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่า มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงตารางเดินเรือที่แน่นอน สามารถเดินทางระหว่างภาคตะวันออกและภาคใต้ได้อย่างสะดวก

คมนาคมเตรียมเปิดเดินเรือเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา ปี 65
ทั้งนี้ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ได้เริ่มทดลองให้บริการเดินเรือในเดือนพฤศจิกายน 2564 และมีแผนให้บริการเดินเรืออย่างเป็นทางการในปี 2565 โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการในเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) – ท่าเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา โดยเรือ RoRo Ferry ดิ บลู ดอลฟิน “The Blue Dolphin” มีขนาด 7,003 ตันกรอส ความยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5.7 เมตร มีพื้นที่ภายในเรือรองรับการขนส่งยานพาหนะ ความยาว 916 เมตร ซึ่งสามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกได้ประมาณ 100 คัน รองรับผู้โดยสารได้ 536 คน เดินเรือด้วยความเร็วประมาณ 20 นอต หรือประมาณ 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยวไปกลับต่อสัปดาห์ ในวันอังคาร-พุธ และจะขยายเที่ยวการให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว

การเปิดให้บริการเดินเรือ RoRo Ferry (เรือ The Blue Dolphin) ดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการซึ่งต้องการเดินทางหรือขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออกและภาคใต้มีทางเลือกการเดินทาง การขนส่งสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยว ลดปัญหาการจราจรทางบกและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน เสริมศักยภาพสายการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) และสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

คมนาคมเตรียมเปิดเดินเรือเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา ปี 65
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังมีนโยบายการพัฒนาการคมนาคมและขนส่งทางน้ำที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่ง สนับสนุนการท่องเที่ยว โดยได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่าเรือโดยใช้ระบบ Automation, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางน้ำท่าเรือ ร่องน้ำทางเรือเดิน, การพัฒนาท่าเรือในภูมิภาคเชื่อมโยงการเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศให้ก่อเกิดรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องในสายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำชายฝั่งพร้อมโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและพัฒนาชายหาดให้กลับสู่สภาพเป็นหาดทรายที่สวยงาม ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
 

logoline