svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ชาวนาเฮ! ครม.อนุมัติวงเงิน 76,000 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกร

30 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ครม.อนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยวันนี้ (30 พ.ย.64) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.64  ที่ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65  วงเงินจ่ายขาดเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นตามมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)

ชาวนาเฮ! ครม.อนุมัติวงเงิน 76,000 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตกรผู้ปลูกข้าว  ปี 2564 /65 วงเงินจ่ายขาด 89,306.39 ล้านบาท  มาตรการคู่ขนาน ฯ วงเงินจ่ายขาด 6,955.98  ล้านบาท และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65  วงเงินจ่ายขาด 54,972.72 ล้านบาท รวมวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 151,235.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน มีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการประกันรายได้เพิ่มเติม ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 76,080.95 ล้านบาทโดยดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล 2561 ตลอดจนกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ชาวนาเฮ! ครม.อนุมัติวงเงิน 76,000 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกร

ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ข้อ 2 กำหนดให้อัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานบอร์ด นบข. ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้  เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ 

 

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 10,864.23 บาท

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,407.75 บาท

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 9,947.87 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,065.38 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 7,662.53 บาท

logoline