svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

รัฐประหารซูดานทำแปลก ให้นายกฯกลับมารับตำแหน่ง

21 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ซูดาน ซึ่งเจอกับการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว ตกลงให้นายกรัฐมนตรีที่โดนโค่นอำนาจ กลับมานั่งในตำแหน่งเดิม พร้อมกับปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกจับตัวทั้งหมด หลังฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจตกลงกันได้กับฝ่ายพลเรือน

อับดุลลา ฮัมด็อก นายกรัฐมนตรีซูดานที่ถูกฝ่ายทหารขับออกจากตำแหน่ง ถูกแต่งตั้งให้กลับมารับตำแหน่งเดิมหลังจากถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก นับตั้งแต่ที่รัฐบาลถูกกระทำรัฐประหารอย่างกะทันหันเมื่อเดือนที่แล้ว

 

ผู้เจรจาไกล่เกลี่ยบอกด้วยว่า บรรดาผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกจับหลังรัฐประหาร ก็จะได้รับการปล่อยตัว โดยเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงใหม่ระหว่างกองทัพ ผู้นำพลเรือน และกลุ่มอดีตกบฏ 

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายพลของซูดานได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และยุบการปกครองของผู้นำพลเรือน เรื่องนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงนานหลายสัปดาห์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย

 

ฟัลลัลลาห์ บูร์มา นาซีร์ หัวหน้าพรรคอุมมาของซูดาน ยืนยันว่ามีการบรรลุข้อตกลงในช่วงกลางดึกของวันเสาร์ ( 20 พฤศจิกายน ) และจะมีการลงนามในวันอาทิตย์นี้

รัฐประหารซูดานทำแปลก ให้นายกฯกลับมารับตำแหน่ง

 

 

ขณะที่กลุ่มผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งรวมถึงนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน  และนักการเมือง ได้ออกแถลงการณ์สรุปเงื่อนไขของข้อตกลง ซึ่งบอกว่านายกรัฐมนตรีฮัมดอกและสมาชิกคณะรัฐมนตรีของเขาที่ถูกคุมขังระหว่างการทำรัฐประหาร จะถูกปล่อยตัวและเขาจะกลับไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่ากฎเกณฑ์ที่ควบคุมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของซูดาน ก็จะได้รับการฟื้นฟู

 

ผู้นำทางการทหารและพลเรือนของซูดานอยู่ในข้อตกลงแบ่งปันอำนาจมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 หลังจากที่ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ผู้นำเผด็จการที่เรืองอำนาจมายาวนานถูกโค่นล้ม

 

แต่การจัดการดังกล่าวประสบกับวิกฤตเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อ พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อับเดลราห์มาน บูร์ฮาน ผู้นำกองทัพ สั่งยุบรัฐบาลฝ่ายพลเรือน และจับกุมบรรดาแกนนำ

รัฐประหารซูดานทำแปลก ให้นายกฯกลับมารับตำแหน่ง ​​​​​​

 

 

เขายืนยันว่างานนี้ไม่ใช่ "รัฐประหาร" แต่จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อป้องกันสงครามกลางเมืองที่ใกล้จะปะทุ เนื่องจากกลุ่มการเมืองยุยงพลเรือนให้ต่อต้านกองกำลังความมั่นคง และเขาได้แต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าสภาปกครองชุดใหม่ โดยมีผู้นำทางทหารและอดีตกบฏอยู่เคียงข้าง

 

นับตั้งแต่นั้น ในหลาย ๆ เมือง รวมทั้งเมืองหลวง กรุงคาร์ทูม ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ได้วางเครื่องกีดขวางชั่วคราวและเผายางรถยนต์ เพราะโกรธแค้นที่เส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่เปราะบางอยู่แล้วถูกทำลาย กองทัพก็ได้ตอบโต้อย่างรุนแรง รวมถึงมีการยิงผู้ประท้วง

 

ประชาคมระหว่างประเทศก็ได้ประณามรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทางด้านธนาคารโลกก็ระงับการช่วยเหลือซูดาน ขณะที่สหภาพแอฟริกา หรือ AU ก็ระงับสมาชิกภาพของซูดาน

 

รัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในซูดาน โดยมีการพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการยึดอำนาจครั้งล่าสุดด้วย 

รัฐประหารซูดานทำแปลก ให้นายกฯกลับมารับตำแหน่ง ​​​​​​

 

 

logoline