svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

นักเรียนทุนฟอร์ดจี้รัฐออกกม.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

14 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มนักเรียนทุนฟอร์ดอีสานรวมตัวออกแถลงการณ์จี้ภาครัฐทบทวนกฎหมายปกป้องคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กรณีเหยียดคนอีสาน พร้อมเพิ่มหลักสูตรการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ทุกระดับการศึกษา หวังปูรากฐานในเด็กเข้าใจในหลักการสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ต้น


จากกรณีกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งใช้ช่องทางแอพพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์ toxic  ดูถูกเหยียดหยามคนอีสานอย่างคะนองปาก จนเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้มีกลุ่มคนอีสานหลายกลุ่มก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยการเข้าแจ้งความเอาผิดกับกลุ่มผู้กระทำดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

และล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายศิษย์เก่านักเรียนทุน IFP THAN ภายใต้โครงการ  Ford Foundation International Fellowships Program (IFP) โดยมูลนิธิทุนการศึกษาเอเชียในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  (Asian Scholarship Foundation under the Royal Patronage of HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมที่โดดเด่นในภาคอีสาน แ ละได้ถูกรับเลือกให้ได้รับทุนในศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งในและนอกประเทศ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดยได้จัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “ฤๅเราจะปล่อยให้การเหยียดคนอีสานเป็นวัฒนธรรมประเพณีอย่างที่เขากล่าวอ้าง?” และได้ออกแถลงการณ์จี้ให้ภาครัฐออกกฎหมายเพื่อปกป้องการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน 

 

นักเรียนทุนฟอร์ดจี้รัฐออกกม.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

นางสาวพิณทอง เลห์กันต์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี เครือข่ายผู้หญิงอีสาน นักเรียนทุนฟอร์ด รุ่นที่ 5 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เปิดเผยว่า ทางสมาคมเราได้เล็งเห็นการเหยียดคนอีสานที่เป็นข่าวดังในขณะนี้ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาในกรณีนี้อย่างชัดเจน เด็ดขาด เพื่อยุติปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของในชาติ  ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดการเหยียดหยามชาติพันธุ์ที่มักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนระบุไว้ถึงการปกป้องศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์ ไว้อย่างชัดเจน นอกจากคำว่า "แบ่งปันงานพัฒนาที่เท่าเทียม" จึงได้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น 

โดยเฉพาะคนอีสาน จะโดนเหยียดมากที่สุด ซึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน กรณีของคอลัมนิสต์ท่านหนึ่ง  จากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ได้เผยแพร่บทความดูหมิ่นผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลไม่รับฟ้อง เพราะไม่มีมาตรากฎหมายรองรับในกรณีดูหมิ่น เหยียดหยามชาติพันธุ์ ซึ่งท้ายที่สุด ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะก็ยังมีคนที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอีสานทั้งภาคอีก และกรณีคลับเฮาส์ล่าสุดที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงต่อจิตใจคนอีสานมากที่สุด     

 

นักเรียนทุนฟอร์ดจี้รัฐออกกม.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

“เราจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1. ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์, 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้รับรองศักดิ์ศรีกลุ่มชาติพันธุ์ และกฎหมายลูกอื่นๆ และ 3. รัฐบาลควรมีการเพิ่มหลักสูตรการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ทุกระดับการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการสิทธิมนุษยชนให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ การเหยียดหยามเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดก็ตาม ต้องยุติและต้องมีกฎหมายการลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้กระทำการหมิ่น การเหยียด ทั้งทางแพ่งและอาญา“นางสาวพิณทองกล่าว

ด้านนายอดิศร สุนทรารักษ์ นักพัฒนาเอกชน นักเรียนทุนฟอร์ด รุ่นที่ 5  กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง จากเรื่องนี้เกิดจากกลุ่มคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งคำพูดเหล่านั้นได้แสดงถึงพื้นฐานวิธีคิด โดยคนกลุ่มนี้จะมองว่าคนไทยด้วยกันเป็นคนอื่น และยังมองภาพสังคมเป็นชนชั้น โดยคนกรุงเทพหรือภาคปริมณฑลเป็นคนชนชั้นสูง ซึ่งมันเป็นปรากฏการสะสมมาจากสังคมในอดีต ที่มองว่าคนภาคอื่นต้องด้อยกว่าตัวเอง แต่ในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะมีวิธีคิดแบบนี้ขึ้น

“ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เกรงว่าจะเหมือนกับประเทศอเมริกาในอดีต ที่มีการแบ่งแยกชนชั้น เหยียดสีผิว หากไม่มีการแก้ใคร หรือ เปลี่ยนแปลง หรือออกกฎหมายบังคับ มันก็จะเป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยยังสะท้อนให้เห็นได้จากการกระจายงบประมาณ  ซึ่งภาคอีสานเป็นภาคที่มีประชากรเยอะและมีพื้นที่ใหญ่ แต่งบประมาณรายหัวของภาครัฐที่แจกจ่ายออกมาต่างจากภาคอื่น ๆ โดยเรื่องนี้ต้องกลับมาคุยกันใหม่ เพราะตอนนี้เหมือนกับว่างบต่าง ๆ โครงการต่าง ๆ ลงกรุงเทพเยอะ แล้วมาปล่อยให้เด็กกรุงเทพบางกลุ่มมาเหยียดคนอีสานแบบนี้ มันไม่ค่อยถูกต้อง มันเป็นการลำเอียงในการพัฒนา”นายอดิศรกล่าว 

ขณะที่นางสาวศิรินาฏ มาตรา ผู้ประสานงาน ActionAaid Thailand หนึ่งในนักเรียนทุนฟอร์ด รุ่นที่ 4  ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมองถึงรากฐานของปัญหาที่เกิดจากระบบการศึกษา ต้องมีการเปลี่ยนระบบตั้งแต่ต้น โดยปลูกฝังให้เด็กได้เข้าใจถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ว่าทุกกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน 
นอกจากนี้นางสาวพิมลทิพา มาลาหอม นายกสมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุนฟอร์ด ระบุเพิ่มเติมว่า สมาคมเครือข่ายศิษย์เก่านักเรียนทุน IFP THAN ได้เกิดจากการรวมตัวของนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจาก Ford Foundation ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ International Fellowships Program ใน Asia-Russia หรือ เรียกว่า IFP Program IFP Program ในภูมิภาคเอเชียมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย IFP Program อยู่ภายใต้การดำเนินงาน ประสานงานของมูลนิธิการศึกษาเอเซีย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้ได้รับทุนเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ทำงานในด้านการพัฒนาสังคมในหลากหลายสาขาวิชา และ เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยหรือด้อยโอกาส  ที่ผ่านมาทางสมาคมฯที่จะกิจกรรมร่วมในการเสริมสร้างความรัก ความอบอุ่น และความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง 
“สำหรับประเด็นการเหยียดคนอีสาน เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ที่มีคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งออกมาเขียนบทความพูดถึงผู้หญิงอีสานในทางที่ไม่ดี  มันสะท้อนว่า คุณไม่รู้สภาพอีสานเลย แค่มองจากข้างบน และปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่อีสานทั้งหมด ไม่ควรเหมารวม ซึ่งทางเราก็ทำเรื่องฟ้อง แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และล่าสุดเหตุการณ์คลับเฮ้าส์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงไม่กี่ที่พูดออกมาแรงมาก เพื่อเป็นการปกป้องคนอีสาน และไม่ให้ขยายความขัดแย้งเป็นวงกว้างขึ้น เราต้องก้าวข้ามมายาคตินี้ไปให้ได้  และต้องทำลายต้นกล้าเหล่านี้ให้หมดไป เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก และขอให้เหตุการณ์นี้เป็นตำนานและเป็นบทเรียนสุดท้ายในสังคมไทย”นายกสมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุนฟอร์ดกล่าว
ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับนายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการมูลนิธิชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ที่มีพื้นที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเริ่มต้นจากทัศนะคติที่ฝังอยู่ภายในจิตสำนึกของบุคคล โดยเฉพาะในส่วนของชนเผ่า กรณีการเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติมานานแล้ว นอกจากนี้สถานการณ์การเลือกทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่ามีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทั้งในระดับนโยบาย 
โดยถูกเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ โดยการจำแนก การกีดกันการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา การจำกัดสิทธิไม่ให้เท่าเทียมกับคนไทยพื้นราบ หรือการเลือกปฏิบัติโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสายหรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกั้นการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและในด้านอื่น ๆของการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งการระงับหรือกีดกันการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอภาคของบุคคล แต่สถานการณ์ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองไม่ดีขึ้นมากนัก
“กรณีคนอีสานจริง ๆ มีการเหยียดมานานแล้ว ไม่คิดว่าจะยังไม่เหลืออยู่ ที่ผ่านมาคนอีสานก็ไม่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกสร้างวาทะกรรมเหยียดหยาม เช่นคนอีสานจะถูกมองว่าล้าหลัง ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ทางเหนือจะถูกมองว่าเป็นพวกค่ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า ทางออกเรื่องนี้ ต้องมีการจัดการศึกษาวางรากฐานแนวคิดว่าประเทศไทยมี ความหลากหลายในชาติพันธุ์ คนทุกชาติพันธุ์เป็นคนร่วมสร้างประเทศ ซึ่งเรื่องพวกนี้ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กอนุบาลไปเลย”นายวิวัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ นายวิวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า หากคนอีสานจะแสดงพลังในจุดนี้ สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทางภาคเหนือได้ เพราะตอนนี้ทางเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชนกำลังผลักดัน พ.ร.บ. การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคล อยู่ ซึ่งตอนนี้หลังจากดำเนินการไปกว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ ดังนั้นหากร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ตัวนี้ออกมากฎหมายคงจะมีความชัดเจนขึ้น

นักเรียนทุนฟอร์ดจี้รัฐออกกม.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

โดย  - ศูนย์อีสาน 

logoline