ตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บรรณารักษ์ ราเดน โรโร เฮนดาร์ติ ได้ขับห้องสมุดเคลื่อนที่ เพื่อนำหนังสือไปยังเด็ก ๆ บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงมันได้
เธอไม่เพียงแต่ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในหมู่เยาวชนเท่านั้น แต่ยังลดขยะในละแวกบ้านอีกด้วย "ห้องสมุดแลกขยะ" ของราเดนอนุญาตให้เด็ก ๆ ยืมหนังสือได้ โดยแลกกับถ้วยพลาสติก ถุงพลาสติก และขยะอื่น ๆ ที่เธอจะรวบรวมแล้วนำไปขายเพื่อซื้อหนังสือมาเพิ่มเติม
“ให้เราสร้างวัฒนธรรมการรู้หนังสือตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อลดอันตรายของโลกดิจิทัล และเราควรดูแลขยะของเราเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปกป้องโลกจากขยะ” เป็นคติประจำใจของเธอ
เดิมที ผู้หญิงอายุ 48 ปีรายนี้เริ่มตั้งห้องสมุดแลกขยะในเมืองมุนตัง บ้านเกิดของเธอในปี 2557 การตอบสนองนั้นดีในตอนแรก แต่การขาดพนักงาน และความสนใจที่ลดลงทำให้ความคิดริเริ่มของเธอตกอยู่ในอันตรายหลังจากที่ผ่านไปเพียง 1 ปี
จากนั้นรัฐบาลท้องถิ่นและห้องสมุดก็ก้าวเข้ามา และมอบรถบรรทุกสามล้อและหนังสือให้เธอมากขึ้นอีก เพื่อให้เธอสามารถนำโปรเจ็กต์ของเธอออกไปบนท้องถนน
ราเดนออกเดินทางทุกวันทำงาน โดยมีเป้าหมายไปเยี่ยมชุมชมตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างน้อย 3 แห่งในแต่ละวัน
ด้วยขวดพลาสติกเพียงขวดเดียว หรือซองพลาสติกเพียงซองเดียว ผู้คนก็สามารถเข้าถึงคอลเลคชั่นหนังสือประมาณ 6,000 เล่มและสามารถยืมมันได้มากเท่าที่ต้องการ ชาวบ้านมักจะยืมหนังสือกันนานถึง 1 สัปดาห์
เธอบอกว่าเธอสามารถรวบรวมขยะได้มากถึง 100 กก. ต่อสัปดาห์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะคัดแยกและส่งไปรีไซเคิลหรือขาย
ราเดนบอกว่าความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมค่อย ๆ เติบโตขึ้นในหมู่บ้าน และเธอคิดว่าขณะนี้มีชาวบ้านประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนนี้ เธอบอกว่าการขยายห้องสมุดไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ จะทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้รับการสนับสนุนไม่ให้ทิ้งขยะไปทั่ว
เควิน อะลามชาห์ นักอ่านวัย 11 ขวบก็เห็นด้วย
“เมื่อมีขยะมากเกินไป สภาพแวดล้อมของเราจะสกปรกและไม่แข็งแรง นั่นเป็นเหตุผลที่ผมมองหาขยะเพื่อใช้ยืมหนังสือ”
จิอาห์ ปาลูปี หัวหน้าห้องสมุดสาธารณะหลักในพื้นที่บอกว่างานของราเดนช่วยเสริมความพยายามของพวกเขาในการต่อสู้กับการเสพติดเกมออนไลน์ในหมู่เยาวชนและส่งเสริมการอ่าน
ธนาคารโลกระบุว่าอัตราการรู้หนังสือสำหรับเด็กอายุมากกว่า 15 ปีในอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 96% แต่รายงานเมื่อเดือนกันยายนได้เน้นย้ำว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อาจทำให้เด็กเหล่านั้นมากกว่า 80% มีระดับความสามารถในการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD
การทดสอบโดย OECD สำหรับโครงการการประเมินนักเรียนต่างชาติ (PISA) ในปี 2561 แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนไปไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 8 จากระดับต่ำสุดของ 77 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ