svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปฏิรูปการเลี้ยงดูเด็ก โลกหลังโควิด-19

07 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แนะผู้ปกครองพัฒนาทักษะเด็ก รับ “ภาวะโลกผันผวน” หลังโรคระบาดโควิด-19 ป้องกันเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ เติบโตไม่สมวัย

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวว่า สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโลกหลังโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวต้องปรับชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ

 

เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการมีทักษะเหมาะสมตามวัยจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

 

โดยพฤติกรรมเด็กแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ

  1. เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงบวก เช่น รู้จักการใช้เทคโนโลยี รักการใช้ชีวิตอิสระ กล้าแสดงออก และเป็นตัวของตัวเอง
  2. เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงลบ เช่น ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ขาดการคิดวิเคราะห์ ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

 

ปฏิรูปการเลี้ยงดูเด็ก โลกหลังโควิด-19

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กช่วงโควิด-19 ไม่อยากให้ตีตราว่าเป็นพฤติกรรมไม่ดี ภาคีเครือข่ายเด็กและครอบครัว สสส. เดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่อง “ภาวะโลกผันผวน” หรือ VUCA World กับผู้ปกครอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กรับมือกับสภาพแวดล้อมและโลกในวันข้างหน้าที่ไม่มีความแน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตให้ได้

 

โดยเป้าหมายในการสร้างเด็กและเยาวชนสมัยใหม่นั้น นอกจากเรียนรู้ในห้องเรียนด้านเนื้อหาวิชาการตามมาตรฐานการศึกษา อยากให้เห็นคุณค่าด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อพัฒนาพฤติกรรม ทักษะชีวิต และการคิดวิเคราะห์ เชื่อว่าจะเป็นผลดีเมื่อเด็กเติบโตขึ้น” นางสุภาวดี กล่าว

ผศ.วิริยาภรณ์ อุดมระติ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์ กล่าวว่า พฤติกรรมเด็กส่วนใหญ่เกิดจากสมองและจิตใจที่ถูกปลูกฝังหรือสัมผัสจากครอบครัวและสังคม ดังนั้น เวลาผู้ปกครองจะปรับพฤติกรรมเด็กต้องไม่จัดการปัญหาแค่ปลายเหตุ แต่ต้องรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในระบบความคิดของเด็ก

 

ปฏิรูปการเลี้ยงดูเด็ก โลกหลังโควิด-19

 

จึงเป็นที่มาของความรู้ฐานราก 3 มิติ ดังนี้

  • มิติที่ 1 ด้านพัฒนาการ 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม สติปัญญา
  • มิติที่ 2 ด้านตัวตน (Self) ได้แก่ ตัวตนหรือความรู้สึกนึกคิดของเด็กที่มาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
  • มิติที่ 3 ด้านทักษะสมอง Executive Functions (EF) คือกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วง “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่ทำให้เด็กสร้างตัวตนสมวัยและมีทักษะที่ดี

 

 

"การเลี้ยงดูเชิงบวกจะทิ้งร่องรอยประสบการณ์ที่มีคุณภาพในสมองและจิตใจเด็ก เกิดเป็นความสัมพันธ์อบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ส่งผลให้เด็กสร้างตัวตนได้สมวัย ส่งเสริมทักษะดี และทักษะสมอง EF

 

ขณะที่การเลี้ยงดูเชิงลบ จะทิ้งร่องรอยประสบการณ์เลวร้ายในสมอง และจิตใจของเด็ก เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่น่ากังวล หวาดกลัว ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ จนกลายเป็นวงจรความเครียด เช่น เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจซ้ำๆ จะเป็นคนใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ผศ.วิริยาภรณ์ กล่าว

 

ผศ.วิริยาภรณ์ อุดมระติ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์

logoline