svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

TDRI ชงโมเดลแก้ศก.ถดถอย ห่วง 20 ปีข้างหน้าไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

03 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีดีอาร์ไอ ห่วง 20 ปีข้างหน้าไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่อัตราเติบโตศก.ช้าลงเหลือแค่ 2.6% ในปี 2579-2583 แนะรัฐปรับโครงสร้างฟื้นฟูและต่อเติมทั้งลดสูญเสียอุบัติเหตุ ลดเกณฑ์ทหาร ลงทุนนวัตกรรม จะทำให้จีดีพีเพิ่มอีก 2% ต่อปี

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ระบุในเวทีสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”  โดยเสนอแนวคิดการ “ฟื้นฟู” และ “ต่อเติม”  ที่หมายถึงการ “ฟื้นฟู” คนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิม พร้อม“ต่อเติม” ด้วยการยกระดับผลิตภาพในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาครัฐ
 
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้น แต่มีแนวโน้มที่เติบโตช้าลงในระยะยาว โดยอัตราการเติบโตอาจลดลงจนเหลือระดับประมาณ 2.6% ต่อปี ในปี 2579-2583 จากการที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังจะไม่สูงพอที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ในเวลา 20 ปี และจะไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับเงินบำนาญและสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนมากเดือดร้อนมาก
 

ประเทศไทยจึงต้องสร้างโมเดลในการพัฒนา ด้วยการ “ฟื้นฟู” คนและสิ่งแวดล้อม จากการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุลง 50% ใน 5 ปี ลดการสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อลง 25% ใน 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าที่ประเทศไทยตั้งไว้อยู่แล้ว และลดการเกณฑ์ทหารลง 50% ทันที จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยขึ้นได้อีก 0.62% ต่อปีเมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี
 
สำหรับการ “ต่อเติม” คือการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศในแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐลงทุนในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก หากประเทศไทยสามารถยกระดับผลิตภาพรวมให้สูงกว่าระดับในปัจจุบันได้อีก 0.5% ต่อปี โดยการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยขึ้นอีก 0.91% ต่อปีตลอดระยะเวลา 20 ปีหน้า
 

“หากรัฐบาลดำเนินการเลิกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาและไม่มีประโยชน์ 39% ก็จะสามารถลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและประชาชนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของ GDP โดยแทบไม่ต้องลงทุนในรูปตัวเงินเลย นอกจากนี้การให้บริการรัฐบาลดิจิทัลและการกิโยตินกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉลี่ยขึ้นได้อีก 0.25% ต่อปีเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี จะทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มที่เป็นอยู่ได้อีก 2% ต่อปีไปอีกตลอด 20 ปี ซึ่งจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ในระยะเวลาดังกล่าว”

logoline