svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ถอดเศรษฐกิจไทย "กันยายน-ไตรมาส 3" ปี 2564

29 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์ชาติ เผยภาพเศรษฐกิจไทยใน เดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อ ด้านการท่องเที่ยวยังต่ำ

29 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย เศรษฐกิจไทย เดือนกันยายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น

 

ด้านการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่คลี่คลายทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในหลายหมวด ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจผ่านรายจ่ายประจำและเงินโอน สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

 

ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด จาก

  1. การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับดีขึ้น
  2. ผลของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากช่วงก่อนหน้า
  3. มาตรการภาครัฐที่ยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้น และหมวดก่อสร้างที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศคลี่คลาย รวมทั้งภาคการผลิตของไทยที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าหลายหมวดปรับดีขึ้น

 

ถอดเศรษฐกิจไทย "กันยายน-ไตรมาส 3" ปี 2564

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด ตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังคงกดดันการผลิต โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง  นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าบางประเภทลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์

การใช้จ่ายภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่หลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับพื้นที่อุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากการเกินดุลการค้าที่สูงขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

 

ถอดเศรษฐกิจไทย "กันยายน-ไตรมาส 3" ปี 2564

 

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ทั้งนี้ เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสก่อนตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ

 

ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง จากการแพร่ระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้นที่ทำให้อุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอตัว สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption

 

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นบ้างหลังการเปิด sandbox ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง เนื่องจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อนหมดลงเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

 

logoline