svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

29 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชียงใหม่ – คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มช. ยอมรับกังวลกับการเปิดเมืองในวันที่ 1 พ.ย. จากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเกือบเต็มศักยภาพรองรับ เผยนักวิชาการมองเชียงใหม่เข้าสู่พื้นที่สีแดงเข้มต้องได้รับจัดสรรวัคซีนเพิ่ม ลดจำนวนผู้ป่วย ที่มีอาการรุนแรง

  แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

           ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้การระบาดของเชื้อโควิดในจังหวัดเชียงใหม่มีความรุนแรงมากขึ้น พบว่ามีผู้ป่วย ใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 300 ราย ถึง 400 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ทุกวัน ทั้งนี้ตามสถิติทางการแพทย์ ผู้ป่วยรายใหม่ร้อยละ 20 เป็นผู้ป่วยมีอาการปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 5 ต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก หรือ ICU

            ขณะนี้การรับผู้ป่วยอาการรุนแรงเริ่มติดขัด จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้เริ่มลดน้อยลงจนเกือบเต็มศักยภาพที่รับได้ หากมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ในเร็วๆนี้ อาจเกิดปัญหาเตียงที่จะรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่เพียงพอได้ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีสถานพยาบาลในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีเพียง 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลนครพิงค์ และ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่สามารถรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1-28 ตุลาคม 2564 พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 6,000 ราย

แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

             จากการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยังพอที่จะดำเนินการได้ แต่ยังมีความกังวลว่า หากมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น จะทำให้จำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่เพียงพอ ประกอบกับจากการสังเกตพบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่ตระหนักเรื่องการป้องกันและระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน ประกอบกับเชียงใหม่จะมีการเปิดเมืองในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ จึงรู้สึกกังวลที่จะเปิดเมืองในช่วงนี้ แต่เนื่องจากเป็นนโยบายของประเทศ จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

              ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเข้ามาไม่มากนัก ปัจจุบันมียอดการฉีดวัคซีนไปประมาณร้อยละ 60 เนื่องจากเชียงใหม่ไม่ได้จัดอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้ยอดวัคซีนที่เข้ามามีไม่มากนัก ซึ่งในความเป็นจริงนักวิชาการมองว่าจังหวัดเชียงใหม่น่าจะเข้าสู่พื้นที่สีแดงเข้มแล้ว จึงอยากแจ้งเตือนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้เร่งเข้ามารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

               บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ จากข้อมูลทางการแพทย์ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และรีบด่วน ขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทราบข้อมูล และตระหนักถึงการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ขณะนี้มีความรุนแรงระดับสูง และการแพร่กระจายการติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดในผู้ที่ไม่มีอาการ และเกิดในครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก

แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

             การแจ้งเตือนถึงศักยภาพความพร้อมของเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เนื่องจากในเชียงใหม่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรับผู้ป่วยอาการรุนแรงได้จำกัด ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ ที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับต้องการสะท้อนให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เป็นการนำเสนอทางด้านวิชาการด้านการนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

                ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ กล่าวอีกว่า ขอเชิญชวนทุกท่านมารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด มีรายงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า วัคซีนสูตรไขว้ตามนโยบายของประเทศมีประสิทธิภาพสูง โดยหวังว่าจะได้การจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมมากขึ้นเหมือนพื้นที่อื่น เพื่อเพิ่มจำนวนร้อยละของผู้รับการฉีดวัคซีน โดยจะมีผลให้ผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยอาการหนักลดลงซึ่งจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

แพทย์มช.กังวลเตียงผู้ป่วยโควิดเข้าขั้นวิกฤติ

               ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 414 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 15,979 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 3,999 ราย ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน ประชากรชาวเชียงใหม่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1,061,881 คน คิดเป็นร้อยละ 61.40 จากจำนวนประชากร 1,729,353 คน

logoline