svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคม ‘ขวาง‘ ยืดสัมปทาน BTS แลกหนี้ 3.2 หมื่นล้าน

20 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยืดสัมปทานรถไฟฟ้า BTS แลกรับหนี้ 3.2 หมื่นล้านบาท พร้อมลดค่าตั๋วไม่เกิน 65 บาทตลอดสายยังไร้ข้อสรุป เหตุคมนาคมทักท้วงว่าไม่ดำเนินการตามกฎหมายและมติครม.

คมนาคม ‘ขวาง‘ ยืดสัมปทาน BTS แลกหนี้ 3.2 หมื่นล้าน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร  หรือ กทม. กับบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยเสนอต่ออายุสัมปทาน 30 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2572 ซึ่งมีเงื่อนไขการให้บีทีเอสรับภาระหนี้ของ กทม. พร้อมกำหนดค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 65 บาท จากเดิม 158 บาท แต่สุดท้ายกระทรวงมหาดไทยได้ถอนวาระดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีข้อทักท้วง

คมนาคม ‘ขวาง‘ ยืดสัมปทาน BTS แลกหนี้ 3.2 หมื่นล้าน

สำหรับเรื่องดังกล่าวได้มีการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กระทรวงมหาดไทยได้ถอนวาระออกจากการพิจารณาเช่นกัน หลังจากนายกรัฐมนตรีสั่งให้ศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนเสนอมาให้พิจารณา
 

ส่วนครั้งล่าสุดนี้ กระทรวงคมนาคมได้ส่งข้อสังเกตถึงกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 โดยทั้งสองกระทรวงไม่ได้มีการหารือกันก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ระบุ กระทรวงฯยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาว่าดำเนินการครบถ้วนตามระเบียบกฎหมาย และมติ คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ซึ่งกระทรวงฯได้มีข้อทักท้วง เพราะเห็นว่าการดำเนินการในประเด็นนี้ยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกต 4 เรื่องให้กทม.ตอบ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่ออายุสัมปทาน แต่ปัจจุบัน กทม.ยังตอบกลับไม่ครบ โดยประเด็นข้อสังเกตดังกล่าว ประกอบด้วย 
 

คมนาคม ‘ขวาง‘ ยืดสัมปทาน BTS แลกหนี้ 3.2 หมื่นล้าน

1.ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2.ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 4.ข้อพิพาททางกฎหมายและการร้องเรียน

ที่ผ่านมา BTSC  ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 เพื่อใช้สิทธิ์ตามกฎหมายฟ้อง กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปัจจุบันมีภาระหนี้สะสมรวม 3.2 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 รวม 1.2 หมื่นล้านบาท และ 2.หนี้ค่าระบบการเดินรถ หรือระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 2 หมื่นล้านบาท

logoline