svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แรงงานรัฐวิสาหกิจยื่น 6 ข้อแก้น้ำมันแพง

11 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้แก้ไขราคาพลังงานที่แพงขึ้น 6 ข้อเสนอ

11 ตุลาคม 2564 ด้วยสถานการณ์ประเทศไทยในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เผชิญกับปัญหาวิกฤตในหลายด้านทั้งเรื่อง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกระดับ การปิดกิจการชั่วคราวจนถึงถาวรเกิดภาวการณ์ตกงาน ว่างงาน ไร้อาชีพ ไร้งาน ประชาชนไม่มีรายได้ แม้ว่ารัฐบาลพยายามเยียวยาช่วยเหลือด้วยมาตรการ วิธีการต่าง ๆ แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะทำให้คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นดังที่เคยเป็น และยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอุทกภัยหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ในขณะที่เครื่องอุปโภค บริโภค ก็มีราคาที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนจงใจซ้ำเติมการใช้ชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้นทั้ง ๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายในในการช่วยเหลือประชาชนให้ดำเนินชีวิตไปได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก แต่เมื่อดูราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐบาลไม่ได้จริงใจกับประชาชน 

แรงงานรัฐวิสาหกิจยื่น 6 ข้อแก้น้ำมันแพง

จากการศึกษาราคาน้ำมันในประเทศไทยซึ่งมีข้อถกเถียงกันเสมอมาระหว่างภาคประชาชนกับกระทรวงพลังงานจากราคาน้ำมันที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ราคาน้ำมันที่แพงนั้นสาเหตุมาจากการเก็บภาษีในอัตราที่ซ้ำซ้อน เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนนี้ที่สุดแล้ว คนที่แบกภาระในการจ่าย คือ ประชาชน ไม่ใช่ผู้ประกอบการแต่อย่างใด รัฐจะเก็บเท่าใด ผู้ประกอบการก็จะบวกราคาที่หัวจ่าย คนที่แบกรับภาระจริง ๆคือ ประชาชนในทุกระดับ และยิ่งไปกว่านั้น ผลพวงจากราคาน้ำมันราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย และคนที่แบกรับภาระก็ประชาชนอีกเช่นกัน       
แรงงานรัฐวิสาหกิจยื่น 6 ข้อแก้น้ำมันแพง          

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานทำงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ เกษตรกร แรงงานข้ามชาติ ได้เคยยื่นข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ต่อรัฐบาลเนื่องใน “วันกรรมกรสากล” ปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ เรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดราคาน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา และควบคุมราคาสินค้า แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว นอกจากเพิกเฉยแล้วยังดำเนินนโยบายที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอคือปล่อยให้ราคาน้ำมัน ก๊าซ เครื่องอุปโภค บริโภค แพงขึ้นยังมาก ซึ่งทราบกันดีว่าน้ำมัน และ ก๊าซเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภค ทุกชนิด
 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอให้ท่าน และ รัฐบาล ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของประชาชน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานอันผลพวงมาจากราคาน้ำมัน ก๊าซ พลังงานอื่นที่ปรับตัวสูงขึ้นดังนี้

 

1. เลิกการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นของประเทศสิงค์โปร์

 

2. ยกเลิกการเจ็บภาษีที่ซ้ำซ้อน และยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ยกเลิกค่าการตลาด

 

3.พิจารณาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

 

4.สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ในราคาถูก

 

5.นำกิจการด้านพลังงานกลับมาเป็นของรัฐเช่นเดิมเพราะชี้ชัดว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นไม่เป็นผลดีแก่ประชาชนแม้แต่น้อย แต่กลับทำให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันพลังงาน ในราคาที่แพงขึ้น ที่โฆษณาต่อประชาชนว่าการแข่งขั้นเสรีพลังงานแล้วประชาชนจะได้ใช้บริการในราคาที่ถูกลง ล้วนเป็นเรื่องไม่จริง

 

6.สนับสนุนให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานโดยรัฐ หรือกิจการของรัฐ ต้องผลิตพลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งหมด     
 

logoline