svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ดร.ธรณ์" ห่วงน้ำจืดลงทะเลเยอะ ส่งผลต่อปะการัง-ขยะทะเล

07 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคกลาง ทำให้น้ำจืดในแม่น้ำสายหลัก ไหลลงสู่ทะเลจำนวนมาก โดย ดร.ธรณ์ แสดงความเป็นห่วงว่า อาจส่งผลกระทบต่อปะการัง และทำให้เกิดขยะทะเลจำนวนมาก

7 ตุลาคม 2564 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat  ระบุว่า ...

"ช่วงนี้น้ำจืดจำนวนมากกำลังไหลจากแผ่นดินลงสู่ทะเล โดยเฉพาะในเขตอ่าวไทยตอนใน (อ่าวตัว ก.) ที่มีแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนใน อาจส่งผลกระทบทำให้ปะการังฟอกขาวได้"

โดยลักษณะของอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก.) เป็นอ่าวปิด 3 ด้าน มีเพียงด้านใต้เท่านั้นที่เปิดสู่ทะเลนอก ความกว้างของอ่าวไทย 80-90 กิโลเมตร พื้นที่รวมไม่ถึง 9,000 ตารางกิโลเมตร เพราะฉะนั้น อ่าวไทยตอนในไม่ได้ใหญ่เลย เทียบกับทะเลสาบใหญ่ๆ ในโลก อ่าวไทยตอนในเล็กกว่าเลคมิชิแกนตั้ง 6.5 เท่า 

อ่าวแห่งนี้มีแม่น้ำสายหลัก 4 สาย โดยไล่จากตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง และยังมีแม่น้ำสายรองรวมทั้งคลองอีกมาก เมื่อฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคกลาง น้ำจืดไหลลงมาสู่อ่าวไทยตอนใน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมี 2 ปัจจัยหลัก

"ดร.ธรณ์" ห่วงน้ำจืดลงทะเลเยอะ ส่งผลต่อปะการัง-ขยะทะเล

ประการแรก คือน้ำจืดที่ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนในทำให้ความเค็มของน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว บางทีเกิดปรากฏการณ์ "น้ำเบียด" สัตว์น้ำทนต่อการเปลี่ยนแปลงฉับพลันไม่ได้ ขึ้นมาตายตามชายหาด "น้ำเบียด" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ส่วนใหญ่จะเกิดทางฝั่งตะวันตก แถวชายฝั่งเพชรบุรี น้ำจืดยังอาจส่งผลต่อปะการัง หากความเร็วลดลงฉับพลัน ทำให้ปะการังฟอกขาวได้ แต่ฝั่งตะวันตกไม่มีปะการัง ยังพอมีหน่อยก็ต้องเลยหัวหินไปถึงเขาเต่า แต่น้อยมาก ปะการังของจริงที่ฝั่งตะวันตก จะเริ่มที่หมู่เกาะรอบเมืองประจวบ หลุดออกไปจากเขตอ่าวไทยตอนใน ไม่ได้รับอิทธิพลแล้ว ผิดจากฝั่งตะวันออก เราพบปะการังตั้งแต่เกาะสีชัง เรื่อยไปผ่านเกาะล้าน เกาะไผ่ จนสุดที่แสมสาร ปะการังตะวันออกจึงได้รับอิทธิพลของน้ำจืดที่ลงมากับแม่น้ำ 

การติดตามปะการังฟอกขาว ปี 2562 / ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โดยในปี 2554 ช่วงนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ พวกเรานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลติดตามดูปะการังแถวเกาะสีชังตลอด พบว่าฟอกขาวเล็กน้อย และฟื้นคืนได้ในที่สุด แต่นั่นคือ 10 ปีก่อน ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปพอสมควร หากปีนี้มีน้ำเยอะจริง อาจต้องลงกลับไปดูกันสักครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหามากมาย เทียบเท่ากับที่ฟอกขาวจากโลกร้อนเมื่อต้นปีแถวระยองครับ

ประการที่ 2 ที่มาพร้อมกับน้ำจืดที่ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนใน คือ "ขยะ" ดร.ธรณ์ กล่าวย้ำว่า เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า "การจัดการขยะของไทย" ยังทำได้ไม่ดีนัก โดยมากกว่าครึ่งเป็นการฝังกลบที่ไม่ค่อยได้กลบจริง มีอยู่เยอะที่กองไว้ เมื่อน้ำท่วม กองขยะก็มาตามน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำ ก่อนที่จะมุ่งตรงออกสู่ทะเล กลายเป็ยขยะทะเลจำนวนมาก 

ขยะไม่ย่อยสลายพวกนั้นจะลอยในอ่าวไทยตอนใน บางทีอาจไปปะทะกับมวลน้ำทะเลนอก เกิดเป็นแพขยะขึ้นมาแถวนอกฝั่งประจวบ ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังน้ำท่วมใหญ่ 

แฟ้มภาพ : แพขยะทะเล บริเวณอ่าวไทย จ.ประจวบคีรีขันธ์

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ช่วงนี้คงต้องช่วยกันดู หากพบแพขยะต้องรีบแจ้งกรมทะเล ระบบการเก็บขยะทะเลเราพัฒนาขึ้นพอควร แต่จะพัฒนายังไงก็คงเก็บได้ไม่หมด หากขยะยังเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ ที่มีจำนวนพุ่งพรวดจากช่วงโควิด น้ำจืดยังพาธาตุอาหารจำนวนมากจากแผ่นดินลงทะเล ซึ่งอาจเกิดแพลงก์ตอนบลูม และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ลิ่มน้ำ การเคลื่อนที่กระแสน้ำ ฯลฯ ที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงกระทันหัน ปรากฏการณ์แบบนี้อาจส่งผลต่อการเพาะเลี้ยงของชาวประมงพื้นบ้านตามชายฝั่ง  การเฝ้าระวังต้องใช้สถานีสมุทรศาสตร์แบบ Real Time วัดข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อการแจ้งเตือนได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ อ่าวไทยตอนในมีสถานีสมุทรศาสตร์เพียงแค่แห่งเดียว อยู่ที่หน้าสถานีคณะประมง ศรีราชา เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะประมง มก./สสน. (สารสนเทศทรัพยากรน้ำ) โดยเมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม ที่ผ่านมาพบว่าออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงจนแตะศูนย์ และรีบแจ้งเตือน  แต่ถ้ามีสถานีเดียว จะไม่สามารถตอบโจทย์ในการบริหารจัดการน้ำ แจ้งเตือน ฯลฯ 
จึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการทำมาหากินในเขตอ่าวไทยตอนใน ที่สัมพันธ์กับน้ำจืดจำนวนมากจากแม่น้ำตามที่บอก โดยเฉพาะโลกร้อนทำให้หลายต่อหลายอย่างไม่เหมือนเดิม

"ดร.ธรณ์" ห่วงน้ำจืดลงทะเลเยอะ ส่งผลต่อปะการัง-ขยะทะเล

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ในฐานะอนุกรรมการคณะลุ่มน้ำจืด/น้ำเค็ม ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เมื่อมีโอกาสเข้าประชุม จึงเสนอแนะว่าเราควรมีสถานีแบบนี้ให้ครบ 3 จุด ครอบคลุมทั้งอ่าวไทยตอนใน โดยหากมี 3 สถานีสมุทรศาสตร์ Real Time เราจะเรียนรู้และบริหารความเสี่ยงในการจัดการอ่าวไทยตอนในได้ดีกว่านี้แน่นอน และยังตอบสนองแผนพัฒนาศก./สังคม ฉบับ 13 ในเรื่องการลดความเสี่ยงจากโลกร้อน

"ดร.ธรณ์" ห่วงน้ำจืดลงทะเลเยอะ ส่งผลต่อปะการัง-ขยะทะเล

ล่าสุด มีข่าวดีเล็กๆ ว่าคณะทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบโครงการดังกล่าว และน่าจะเริ่มลงมือทำได้ในไม่ช้า โดยความร่วมมือของกระทรวงอว./สสน./มก. และอีกหลายหน่วยงาน

โดย ดร.ธรณ์ เชื่อว่าภายในอนาคตอันใกล้ เราจะป้องกันความเสี่ยง/แจ้งเตือนเรื่องทำมาหากินในอ่าวไทยตอนในได้ดีกว่านี้ และข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์มหาศาลหากนำไปประยุกต์ใช้ เช่น วาฬบรูด้า ปลาทู สัตว์น้ำต่างๆ ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ  รวมถึงเป็นฐานข้อมูล เพื่อเรียนรู้ระยะยาวเรื่องความเปลี่ยนแปลงในทะเลจากโลกร้อน และนำไปสู่การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกแบบใช้ข้อมูลทางวิชาการ ใช้เทคโนโลยี และใช้ความร่วมมือของทุกฝ่าย 

logoline