svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดร.ธรณ์ โพสต์เศร้า "อ่าวไทยตอนในกำลังตาย"

13 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.ธรณ์ ชี้ "อ่าวไทยตอนในกำลังจะตาย" ปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ส่งผลเป็นลูกโซ่ ทั้งประมงชายฝั่งและท่องเที่ยว ชี้ "ยั่งยืน-ย่อยยับ" มีเส้นบางๆ ขีดคั่นไว้

13 กันยายน 2564 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์รูปภาพน้ำทะเลเปลี่ยนสี พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ระบุว่า ...

"นี่คือภาพความเปลี่ยนแปลงอันน่าเศร้าของอ่าวไทยตอนใน ทุกครั้งที่ผมเห็นภาพเช่นนี้ ได้แต่ปลอบตัวเอง อาจารย์ธรณ์เป็นคนเข้มแข็งเจออะไรแย่ๆ มาเยอะ ก็ยังแค่นยิ้มได้ แต่บางเรื่องมันยิ้มไม่ไหว มันอยากร้องไห้เพราะคิดเท่าไหร่ก็ไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"

ดร.ธรณ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมในโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสี ขี้ปลาวาฬ แพลงก์ตอนบลูม ฯลฯ จะเรียกชื่อไหนตามใจเถิด แต่การเกิดเหมือนกัน เมื่อธาตุอาหารมหาศาลจากแผ่นดินไปตามแม่น้ำลำคลองไหลลงสู่ทะเล แพลงก์ตอนบางชนิดเพิ่มจำนวนพรวดพราด น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว บางทีก็สีน้ำตาล ตามแต่ชนิดแพลงก์ตอน ออกซิเจนในน้ำลดต่ำ บางแห่งบางเวลากลายเป็นศูนย์ ไม่เหลือเลยสัตว์น้ำตาย ที่พอหนีได้ก็ไปให้ไกลจากบริเวณนั้น ชาวประมงเดือดร้อน ไม่มีสัตว์น้ำให้จับ โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านที่ไปได้แค่ใกล้ฝั่ง คนเลี้ยงสัตว์น้ำเดือดร้อน ดูจากภาพเห็นกระชังมากมายในทะเลสีประหลาด เพื่อนธรณ์คงเข้าใจ แม้แพลงก์ตอนไม่มีพิษ แต่น้ำแบบนั้นทำให้สัตว์โตช้า หรือไม่ก็ตายหมดในเวลาอันสั้น ความตายในฉับพลัน มันอาจหมายถึงสิ้นเนื้อประดาตัว จะส่งเสริมสนับสนุนอย่างไร SME ก็ไปไม่รอด

ดร.ธรณ์ โพสต์เศร้า "อ่าวไทยตอนในกำลังตาย"

ดร.ธรณ์ ยังอธิบายอีกว่า ผลกระทบจากน้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือ แพลงก์ตอนบลูม ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย 

"ใครก็อยากเห็นทะเลน้ำใส มาเจอทะเลสีแบบนี้ แถมบางทีมีกลิ่นแปลกๆ ใครจะอยากไปเล่น"

น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง โดยเฉพาะในช่วงหน้าน้ำ เกิดแทบทุกสัปดาห์ น้ำฝนพาตะกอนลงมา พาธาตุอาหารจากแผ่นดิน และที่สำคัญคือปุ๋ยเคมี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าดินเมืองไทยกว่า 150 ล้านไร่ หรือเกือบ 47% มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้เราต้องใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก ปี 63 นำเข้าถึง 5.14 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยครึ่งปีแรกของปี 64 เรานำเข้า 3.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับปี 63 (2.56 ล้านตัน) ปุ๋ยเหล่านั้นเมื่อลงมาถึงทะเล โดยเฉพาะในเขตอ่าวไทยตอนใน แพลงก์ตอนพืชร้องเย้ แพลงก์ตอนบลูม เราก็ได้ภาพเช่นนี้ ยังรวมถึงน้ำทิ้งจากชุมชน อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่เราบำบัดได้ไม่ถึง 30% แค่ 2 สาเหตุนี้ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ "เปลี่ยนสี" ของน้ำทะเลได้ครบถ้วน Eutrophication เป็นปัญหาร้ายแรง หลายองค์กรระบุว่า นี่คือปัญหาติด Top5 ที่ส่งผลต่อทะเลโลกและเป็นปัญหาสาหัส แก้ไขยากสุดๆ

สำหรับเมืองไทย เราพยายามแก้ตรงจุดด้วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กว่าล้านไร่ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์หลายสิบแห่ง แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วมันยังห่างไกลจากการจบปัญหา ห่างมากเลย ห่างจนคิดไม่ออกว่า ต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี แต่คิดออกว่าโลกร้อนกำลังแรงขึ้น ฝนตกหนักขึ้น น้ำท่วมบ่อยยิ่งพาธาตุอาหารลงมา ภัยแล้งยิ่งทำลายคุณภาพดิน ต้องใช้ปุ๋ยเพิ่ม การฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ต้องผลิตเยอะๆ เพื่อส่งออก ยิ่งกระตุ้นผลผลิตการเกษตรมันจึงเป็น 2+1 เด้ง มลภาวะดั้งเดิม โลกร้อนหนักขึ้น + ฟื้นหลังโควิด กลายเป็นปัญหาขนาดยักษ์ เป็นความเสี่ยงสุดๆ ของทะเลอ่าวไทยตอนใน

ความเสี่ยงต่อการทำมาหากินของผู้คนโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย ทั้งประมงทั้งท่องเที่ยว ที่จะเจอกับผลกระทบอย่างหนักและดูไปข้างหน้า มีแต่หนักกับหนัก ในพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเขต EEC ชายฝั่งที่เราปรารถนาจะให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน "ยั่งยืน-ย่อยยับ" มีเส้นบางๆ ขีดคั่นไว้ ปัญหาคือเส้นนั้นกำลังจากหายไป ทางออกสุดท้ายเป็นเหมือนคำตอบกำปั้นทุบดิน เกษตรอินทรีย์ ลด/บำบัดน้ำทิ้ง ฯลฯ เริ่มจริง เร่งเครื่องทำ หวังผลอีก 10-15 ปีหน้า มิฉะนั้น อีกไม่นาน เราจะเข้าสู่ยุคทะเลบางแห่งกลายเป็น Dead Zone ทำมาหากินอะไรไม่ได้เลย Dead Zone ในทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อ่าวไทยตอนในคือหัวใจของทะเลไทย หากเธอตาย…

ดร.ธรณ์ โพสต์เศร้า "อ่าวไทยตอนในกำลังตาย"

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat"

ภาพ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

logoline