svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กฟผ.ติดตั้ง โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ใหญ่สุดในโลก

07 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก และหลายประเทศก็เริ่มมีนโยบาย ใช้พลังงานเหล่านี้มากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

7 ตุลาคม 2564 จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change อันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไปทั่วทั้งโลก ทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟป่า หรือแม้กระทั่งปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจากการพัฒนาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน 

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

กฟผ.ติดตั้ง โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ใหญ่สุดในโลก

ล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าในเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ที่เรียกว่าไฮบริดก็เพราะว่าแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จะมาจาก “พลังงานแสงอาทิตย์” ร่วมกับ “พลังงานน้ำ” เป็นการผสมผสานพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ เมื่อเวลาที่ไม่มีแสงแดดหรือมีความเข้มของแสงไม่พอ ระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) จะควบคุมการสั่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิด ให้มีประสิทธิภาพและผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมากยิ่งขึ้น

 

วิธีนี้เลยเป็นการลดข้อจำกัดด้านความไม่แน่นอนในกาผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนได้ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

กฟผ.ติดตั้ง โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ใหญ่สุดในโลก

ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทยนี้จะมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์  แผงโซลาร์เซลล์นี้จะอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำ 450 ไร่ ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ (อ้างอิงจากงานวิจัยของ กฟผ.)

 

ช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดสามารถใช้ทรัพยากรเดิมของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนสิรินธร ไม่ว่าจะเป็น สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง มาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

แผงโซลาร์เซลล์นี้ เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ซึ่งเป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง สามารถทนความชื้นได้สูง และตัวทุ่นลอยก็ทำจากพลาสติก HDPE เช่นเดียวกับท่อส่งน้ำประปาที่ใช้กัน ดังนั้น จะไม่ปล่อยสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ 

 

หลายคนอาจสงสัยว่า แผงนี้จะบังไม่ให้อากาศและแสงแดดถ่ายเท ส่องลงใต้น้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำไหม? ขอตอบเลยว่า “ไม่”  เพราะทุ่นลอยน้ำไม่ได้ปกคลุมผิวน้ำทั้งหมด ยังมีส่วนที่เป็นช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ผิวน้ำและแสงสามารถส่องผ่านลงใต้น้ำได้

 

มากไปกว่านั้น แผงโซลาร์เซลล์นี้ยังสามารถช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม./ปี (อ้างอิงจากรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ)

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นอกจากนี้ ภายในเขื่อนสิรินธรก็มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) และอาคารอเนกประสงค์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ (Landmark) ของจังหวัดอุบลราชธานี ทุกคนสามารถเข้ามาถ่ายรูปเช็คอิน มาอุดหนุนสินค้าของชุมชน และชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกจากมุมสูงอย่างใกล้ชิดได้ ในขณะเดียวกัน ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนสำหรับให้นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปได้มาศึกษาหาความรู้อีกด้วย 

 

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดในปัจจุบัน  ถ้าใครยังไม่สะดวกเดินทางมาที่ เขื่อนสิรินธร ก็สามารถแวะเข้าเยี่ยมชมแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนี้ได้ บนระบบ Virtual 360

เข้าชมผ่าน https://www.egathydrofloatingsolarhybrid.com/ ได้เลย 

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นอกจาก แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ยังได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีก 9 เขื่อน ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ 

ที่มา

logoline