svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

17 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย กับกรณีการถอดถอน ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ศิลปินแห่งชาติ เรื่องนี้สร้างความสงสัยว่า ทำได้หรือไม่ แล้วจุดเหมาะสมลงตัวของศิลปินแห่งชาติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคืออะไร เพื่อจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไปในอนาคต

กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรง ถึงความเหมาะสมในการ "ปลดศิลปินแห่งชาติ" โดยเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 สมชาย แสวงการ 1 ใน 250 สว. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“แว่วข่าวดีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติถอดนายสุ…จากศิลปินแห่งชาติแล้ว สร้างความเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในหมู่ศิลปินหลากหลายแขนง

ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา 'สิงห์สนามหลวง' ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า 
“ทราบมาว่า กก.วัฒนธรรม จะไม่ทบทวนมติ หนังสือถอดถอนจะมาถึงประมาณวันพุธ เพื่อให้อุทธรณ์ ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเป็นเช่นใด ผมไม่อุทธรณ์”

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

 

 

จดหมายถอดถอนถึงสุชาติ

หลายวันต่อมา วันที่ 4 กันยายน 2564 จดหมายถอดถอน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ก็มาถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีใจความว่า

คณะกรรมการวัฒนธรรมมีมติให้ยกเลิกการเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เนื่องจากนายสุชาติ ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊คเป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม

ซึ่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ

ซึ่ง ศิลปินแห่งชาติ จะต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย และศิลปินแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม
 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

คณะกรรมการวัฒนธรรม จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุชาติ เป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและผลประโยชน์ตอบแทนศิลปิน(ฉบับ3) พ.ศ.2563 ข้อ 2

 

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณาแล้ว จึงขอยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติของนายสุชาติ และงดจ่ายประโยชน์ตอบแทน อย่างไรก็ดี หากท่านไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว สามารถทำหนังสือต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติภายใน 30 วัน ขอแสดงความนับถือ นางสาวอัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รักษาการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

จากนั้นในวันที่ 9 กันยายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ส่งทนายฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หลังมีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ การเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 นั้นว่า เป็นการพิจารณาโดยระบบเปิด

และลงมติ 2 ใน 3 ตามกฎของกระทรวงข้อ 10 ซึ่งมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เคยทำกับคนอื่น โดยขอให้อุทธรณ์แล้วชี้แจงมา โดยให้ระยะเวลา 1 เดือน เพื่อจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและยังไม่ได้ออกคำสั่งอะไร
 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

กับคำถามว่า คณะกรรมการมีธงต่อการพิจารณาหรือไม่

นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่มีการตั้งธงแต่อย่างใด พร้อมระบุว่าศิลปินแห่งชาติสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ แต่ขออย่าทำให้เข้าข่ายในการประพฤติ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองธรรมดา มีการนำหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจน คณะกรรมการจึงได้มีมติออกไป... โดยตนเอง และรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง ไม่ได้ออกเสียง
 

อะไรคือบรรทัดฐาน ?

8 กันยายน 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่อง ‘ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของผมนั้น แม้ผมจะไม่แยแสแล้ว แต่ก็จำต้องถามหาบรรทัดฐานของความถูกต้อง... ตั้งใจทำให้ผมเสียหาย อับอาย ก่อนจะได้รับหนังสือ ‘ยกเลิกการยกย่อง’ จากกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ที่มาล่าช้ากว่าข่าวที่ปรากฎถึง 10 วัน

 

การประชุมลับของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่ร่วมมือกันแก้ไขกฎกระทรวงเมื่อปี พ.ศ.2563 เพื่อให้สามารถยกเลิกการยกย่อง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ในครั้งนี้ได้นั้น เหมือนจะตั้งธงไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คือมีเป้าทางการเมืองที่จะทำให้ผมอับอายและเสียหายในประวัติชีวิตการทำงาน

 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและเพื่อสร้างบรรทัดฐานไว้ให้ปรากฎแก่ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ คนอื่น ๆ ในเวลาต่อไป เพื่อดำรงขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายให้ถูกต้อง ผมจึงได้มอบอำนาจให้กับทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ เพื่อช่วยทำความจริงให้ปรากฎว่า ‘การยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้ มีความชอบธรรมในคำสั่งทางราชการหรือไม่

 

 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

จากประเด็นการเมือง สู่ ประเด็นสาธารณะ

นี่ไม่ใช่เรื่องราวเฉพาะผู้ขัดแย้งกันทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมวงกว้างที่ยังคลางแคลงใจสงสัยด้วยว่า ความคิดเห็นส่วนตัว หรือการแสดงออกของบุคคลนั้นมีขอบเขตอย่างไร

12 กันยายน 2564 กลุ่มนักคิดนักเขียนจำนวน 103 คน อาทิ สุจิตต์ วงศ์เทศ, อธิคม คุณาวุฒิ, ธีระพล อันมัย, บินหลา สันการาคีรี, ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น ได้ร่วมกันออก แถลงการณ์ คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยรณรงค์ที่เว็บ Change.org (ณ วันที่ 16 กันยายน 2564 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 6921 คน) แถลงการณ์ ว่า

“จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ก

มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

1. ข้อกล่าวหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ เป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่

2. หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน... และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน...

ขอเสนอข้อเรียกร้อง ด้วยการให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อาจนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ”

โดยทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ แจ้งว่าได้ส่งหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถึง ‘ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม’ เรื่อง ‘ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมพิจารณายกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ โดยมีหนังสือมอบอำนาจของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี แนบไปด้วย และได้ให้เวลา 10 วันในการตอบกลับ

ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

6 กันยายน 2564 จักร์กฤษ เพิ่มพูล สื่อมวลชนอาวุโส คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีความเห็นว่า ทัศนคติทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล

 

“โดยอำนาจหน้าที่เขาทำได้อยู่แล้ว คณะกรรมการวัฒนธรรม แต่ในทางปฏิบัติ เขาต้องทบทวนว่าเขาไม่ได้เป็นคนแต่งตั้งขึ้น ชุดของเขาไม่ได้แต่งตั้ง และในการแต่งตั้งก็ไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องที่ว่า

 

ผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติ เรื่องความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ทัศนคติทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิทธิของเขา พูดง่าย ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คุณจะเอาประเด็นนี้มาเป็นเหตุอ้าง ในการที่จะปลดออก แล้วที่ผ่านมามันก็ไม่มี

 

หากเพื่อนผม ‘นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์’ บรรณาธิการ ‘จุดประกายวรรณกรรม’ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร กับการที่ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ เงาร่าง ‘สิงห์สนามหลวง’ ถูกถอดออกจากสถานะ ‘ศิลปินแห่งชาติ’

 

แต่สำหรับผม ไม่สงสัย ไม่รู้สึกผิดประหลาดอย่างไร ที่คณะกรรมการชุดนี้ตัดสินไปในแนวทางนั้น เหตุผลเดียวที่ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ถูกปลด เพราะเขาคิดไม่เหมือนผู้มีอำนาจ

 

เขาแสดงออกอย่างชัดเจน เขาเลือกจุดยืน เคียงข้างผู้คนที่ต่อสู้เพื่อเรียกคืนสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพและยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันได้ เหตุผลอื่นใดนอกจากนี้ไม่มี

 

และเมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อยู่ภายใต้รัฐ อยู่ภายใต้ร่มเงาของ ‘อำนาจนิยม’ เขาก็จำเป็นต้องปกป้องสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ด้วยการคิดให้เหมือนผู้มีอำนาจ

 

ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยกับ ‘สิงห์สนามหลวง’ หรือไม่ก็ตาม ผมไม่มีวันที่จะแสดงความดีใจ สะใจ กับการที่เขาถูกปลดจากสถานะความเป็น ‘แห่งชาติ’

ด้วยค่าของความเป็นมนุษย์ นั้น คือ คุณค่าที่เปล่งประกายมาจากตัวเขาเอง จากงานที่เขาทำ จากสิ่งที่คนยอมรับและเป็นที่ประจักษ์มาอย่างยาวนาน

สถานะสมมติ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ หากมันจะหายไป ก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่อย่างใดเลย"

 

ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในการปลดศิลปินแห่งชาติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ขอขอบคุณที่มา: เพจกรุงเทพธุรกิจ , คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี

logoline