svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นพ.วันชัย ชี้ ปิดเกมม็อบดินแดง ต้องสันติวิธีเท่านั้น

13 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการสันติวิธี แนะกระบวนการพูดคุย ปรองดอง หยิบข้อเสนอ คกก.สมานฉันท์ แก้ปัญหาความเห็นต่าง ปรับใช้ปิดเกม แยกดินแดง หวังหมวด "ปรองดอง" เพิ่มในรัฐธรรมนูญ

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตผู้อำนวยการหลักสูตรพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ถูกตั้งขึ้นจากคำสั่งของประธานรัฐสภา มีข้อเสนอไปแล้วจากแนวคิดเดิมกับปัญหาความเห็นต่าง จนตอนนี้เกิดเป็นความรุนแรง ซึี่งแม้คณะกรรมการสมานฉันท์จะไม่มีบทบาทแล้ว แต่ข้อเสนอสามารถหยิบนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

 

ผู้บริหารรัฐบาล ต้องตัดสินใจให้ไวกับความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นนี้  รัฐเองก็มีเครื่องมือ ที่ไม่ใช่ทหาร หรือตำรวจ แต่เป็นวิธีการจากการสรุปข้อเสนอ รวมถึง หน่วยงานราชการต่างๆ อย่างสถาบันพระปกเกล้า ที่มีองค์ความรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ถ่ายทอดสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านสันติวิธี ก็มีจำนวนไม่น้อย เหลือเพียงผลักดันให้เกิดสถาบัน ขึ้นมาทำงานความปรองดองอย่างจริงจัง

 

กระทรวงยุติธรรม ก็มีกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ หน่วยงานนี้ก็ไม่ใช่แค่สอนการหันหน้า มาพูดคุย อบรมให้ความรู้ แต่ควรทำงานเชิงรุก (proactive) จะแก้ไขให้เกิดความปรองดองอย่างไร เพิ่มบทบาทนี้เข้าไป ดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้า 

การปิดเกม แยกดินแดง น่าจะหมายถึง สันติวิธี จากกระบวนการสมานฉันท์ ที่เอาทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาคราชการ ประชาชน หันหน้าพูดคุย ถึงจะมองว่า วิธีการนี้อาจไม่ทันการณ์ แต่ถ้าเด็กใช้ความรุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะยุติ โดยปราศจากความรุนแรงไม่ใช่หรือ? 

 

ฉะนั้น การปรองดอง จึงควรมีบทบาทเชิงสถาบัน มีองค์กรไว้คอยป้องกันความรุนแรงเกิดขึ้นจากความเห็นต่าง

 

ประเด็นสำคัญที่อยากฝากไว้ รัฐธรรมนูญ ประเทศไทย มีแต่หมวดศาล หมวดสิทธิ ทำให้ทุกความขัดแย้ง ต่างก็อ้างสิทธิของตน แล้วนำไปสู่กระบวนการของศาลแล้วไม่เกิดสมานฉันท์ จำเป็นต้องเพิ่มหมวด “ปรองดอง” เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็รู้ดีว่า กระบวนการแก้ไขไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่อยากชี้ให้เห็นว่า การปรองดอง คือเรื่องสำคัญ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มวัยรุ่นที่รวมตัวเคลื่อนไหว ที่แยกดินแดง ถือเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขให้ยุติลงโดยเร็ว เนื่องจากเราไม่รู้แน่ชัด ถึงความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา นอกเสียจากคำสัมภาษณ์ที่มีเพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งระบุแค่ว่าถูกยุยงให้มาร่วมชุมนุมเท่านั้น กลายเป็นเรื่องลำบากที่จะเปิดเจรจา 

 

บางทีการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่าง อาจใช้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวัยรุ่นพวกนี้ นั่นคือ การหันหน้ามานั่งพูดคุย  บางคนอาจคิดว่า ตำรวจอาจใช้วิธีพูดคุยตรงกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้ยุติความรุนแรง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันไป บางครอบครัว เด็กที่ชอบความรุนแรงอาจไม่เชื่อฟังผู้ปกครองของเขา หรืออาจเป็นเยาวชนที่มาจากต่างพื้นที่ ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมาย จึงควรมีลักษณะแฟมิลี่ กรุ๊ป คอนเฟอร์เรนซ์

 

ในกระบวนพูดคุยนี้ จะต้องทำให้เกิดบทบาท เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่รับฟังแล้วสูญหายเปล่าประโยชน์ ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องมีคณะทำงานขึ้นมาในรูปแบบสถาบัน

 

รัฐต้องเปิดใจรับฟังความคิดของเยาวชนกลุ่มนี้ โดยปราศจากการเอาชนะ ดึงกลไกสมานฉันท์ที่มีอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเสริม ทั้งกระบวนการศาลที่มีการพิจารณาคดีแบบไกล่เกลี่ย มีกระบวนการฟื้นคืนคนดีสู่สังคม ทำให้อดีตผู้เคยกระทำผิด มีที่ยืนในสังคม กระทรวงยุติธรรมเอง ก็มีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

logoline