svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จากวันฟ้าหม่น ถึงวันที่ปักกิ่งฟ้าสดใส

24 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากวันที่อากาศกรุงปักกิ่งของจีนเต็มไปด้วยมลพิษและหมอกควันจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ปัจจุบัน ทางการจีนบอกว่าปักกิ่งได้เข้าสู่ยุคของอากาศบริสุทธิ์แล้ว

ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ด้วยหมอกควันที่หนาแน่นและอากาศที่ร้อนจัด และมันได้กลายเป็นความจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้อยู่อาศัย

 

แต่รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนบอกเมื่อเร็วนี้ว่า ตอนนี้ ท้องฟ้าปักกิ่งส่วนใหญ่เป็นสีฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเมืองหลวงของจีนกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของอากาศบริสุทธิ์

 

หวง หลุนชิว บอกว่า " ปักกิ่งสีฟ้า" ค่อย ๆ กลายเป็นความปกติใหม่ของเราแล้ว"   ในช่วงที่เมืองมีบันทึกด้านคุณภาพอากาศรายเดือนที่ดีที่สุด นับตั้งแต่ที่เริ่มการบันทึกในปี 2556

 

แม้ว่าเมืองต่าง ๆ ของจีนจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ในด้านคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเมื่อปีที่แล้ว ปักกิ่งมีบันทึกมลพิษทางอากาศเพียง 10 วันเท่านั้น ลดลงเกือบ 80%
นับตั้งแต่ปี 2558 ภาพถ่ายเมื่อไม่นานมานี้จากปักกิ่ง แสดงให้เห็นท้องฟ้าสีครามและดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพบได้ยากยิ่งในเมืองที่มีประชากรประมาณ 21 ล้านคน

 

การฟื้นตัวของคุณภาพอากาศปักกิ่งแสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ต่อต้านมลพิษของประเทศประสบความสำเร็จเพียงใดนับตั้งแต่ที่เริ่มในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแห่ง "หายนะทางอากาศ"  หรือ air-pocalypse ที่น่าอับอายของปักกิ่งเมื่อหมอกควันเลวร้าย
ถึงขนาดที่ระดับ PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษระดับจุลภาค มีมากถึง 900 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าระดับรายวันที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกถึง 90 เท่า

 

"หายนะทางอากาศ" ดึงดูดความสนใจของสื่อทั่วโลกและบีบให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหากระแสหลักของจีน จนโรงเบียร์ท้องถิ่นที่กล้าได้กล้าเสียแห่งหนึ่งถึงขั้นตั้งชื่อเบียร์ตามมัน รวมทั้งสัญญาว่าจะลดราคาเบียร์ในวันที่มีหมอกควัน

 

เป็นเวลาหลายปี มลพิษในเมืองหลวงได้รับการเรียกอย่างไพเราะว่า "หมอก" แต่ตอนนี้ ด้วยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายของคุณภาพอากาศที่ไม่ดี ผู้อยู่อาศัยไม่เต็มใจที่จะทนต่อการหายใจที่ลำบากเป็นเวลาหลายวันได้อีกต่อไป

 

ดาเนียล การ์ดเนอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากสมิธคอลเลจ และผู้เขียนหนังสือ " มลภาวะสิ่งแวดล้อมในจีน: อะไรที่ทุกคนควรรู้" บอกว่า

 

"มันไม่ใช่แค่อาการไอเพราะระคายคอในกรุงปักกิ่งที่ทำร้ายผู้อยู่อาศัยทุกวัน แต่มันเป็นเรื่องที่แย่กว่านั้นมากตอนนี้ เมื่อพวกเขาไอ มันเป็นสัญญาณว่าพวกเขาได้รับอนุภาคที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและการตาย ดังนั้น ผมจึงคิดว่าผู้คนเริ่มแล้วเห็นว่าคุณภาพอากาศนั้นแตกต่างกันมากกับในปี 2556 "

 

คำศัพท์อย่าง PM2.5 ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำศัพท์ในชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้คนเริ่มจัดชีวิตของตนตามระดับมลพิษต่าง ๆ และเมื่อการรับรู้ของสาธารณชนเพิ่มขึ้น การประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เริ่มเกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ เช่น คุนหมิงและเซินเจิ้น

 

ในขณะนั้น Global Times สื่อของรัฐบาลรายงานว่าความขุ่นเคืองของสาธารณชนกำลัง "ขัดขวาง" การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่การ์ดเนอร์บอกว่ารัฐบาลได้เริ่มเปลี่ยนทัศนคติแล้ว

จากวันฟ้าหม่น ถึงวันที่ปักกิ่งฟ้าสดใส

สี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม 2556 หรือเพียง 2 เดือนหลังจาก " หายนะทางอากาศ "  มองเห็นโอกาส ด้วยการให้คำมั่นว่าจะขจัดมลพิษ เขาสามารถได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน ปรับปรุงภาพลักษณ์ระดับสากลของ
จีนที่เสื่อมโทรม สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติและแรงงานต่างงานที่เป็นกังวลให้กลับคืนมา และเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองไปในคราวเดียวกัน

 

“วิกฤตแรกที่มาถึงโต๊ะทำงานของเขาคือ " หายนะทางอากาศ "  ไม่ใช่แค่ปักกิ่งเท่านั้น แต่เป็นภาคเหนือของจีนทั้งหมด ปี 2556 เป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติที่สำคัญ ขณะนี้รัฐบาลกำลังบอกอย่างเปิดเผยว่า เรากำลังทิ้งนโยบาย 'การเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกด้าน' ไว้เบื้องหลัง และเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ที่มีความกลมกลืนระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ … และการดูแลสิ่งแวดล้อม "

 

ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นไป รัฐบาลได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในแผนปฏิบัติการด้านมลพิษทางอากาศระดับชาติ ออกกฎระเบียบใหม่ ตั้งสถานีตรวจสอบอากาศทั่วประเทศ และเริ่มปิดเหมืองถ่านหินและโรงงานถ่านหิน ภายในปี 2557 จีนได้ประ
กาศ "สงครามต่อต้านมลพิษ" ระดับชาติ 

 

ในตอนแรก ปักกิ่งยอมทนต่อกระแสการประท้วงของสาธารณะ เพราะเป็นการประท้วงระดับท้องถิ่น ที่เน้นไปที่โรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ของผู้ประท้วง หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ละเมิดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในไม่ช้าก็เริ่ม
เปลี่ยนไปเมื่อการประท้วงขยายขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงกระตุ้นจาก "Under the Dome" ซึ่งเป็นสารคดีในปี 2558 ที่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทของรัฐ เจ้าหน้าที่ที่ทุจริต และกระทรวงเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในวิกฤตคุณภาพอากาศ
มีคนชมสารคดีเรื่องนี้มากกว่า 200 ล้านคนภายในสัปดาห์แรก ทำให้เกิดการถกเถียงกันในโลกออนไลน์อย่างดุเดือด ก่อนที่ทางการจะสั่งห้ามฉาย

 

“สิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลกังวลก็คือการเคลื่อนไหวที่กลายเป็นระดับชาติ พวกเขาเห็นผู้คนในปักกิ่ง คุนหมิง และหลานโจว ในทุกส่วนของจีน ดูสารคดีเดียวกันนี้และได้ยินข้อความเดียวกัน ... ผมคิดว่าตอนนั้นการรับรู้ของรัฐบาลก็คือเป้าหมายอาจจะเติบโต และไปไกลเกินกว่าท้องถิ่น ถ้าเรื่องนี้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินต่อไป "

จากวันฟ้าหม่น ถึงวันที่ปักกิ่งฟ้าสดใส

พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองประเทศ ซึ่งก็นำโดยประธานาธิบดีสี ได้กระชับการควบคุมภาคประชาสังคมและปราบปรามการเคลื่อนไหวทางสังคม ตำรวจได้สลายการประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมที่เฉิงตูในปี 2559 และในอู่ฮั่นในปี 2562 สารคดีอื่น ๆ อีก
หลายเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นขยะพลาสติกก็ถูกห้ามเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน สี จิ้นผิง ซึ่งทำให้ตัวเองได้รับการยกย่องจากการรณรงค์ต่อต้านมลพิษของจีน ก็ยังมักจะปิดโรงงานและจำกัดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนเพื่อให้แน่ใจว่าท้องฟ้าปักกิ่งยังเป็นสีฟ้าในช่วงเหตุการณ์สำคัญ เช่นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-
แปซิฟิกในปี 2557

 

แม้จะดีขึ้น แต่หนทางก็อีกยาวไกล ตัวอย่างเช่น ท้องฟ้าสีฟ้าชั่วคราวเหล่านั้น มักจะดีดตัวกลับมาพร้อมกับหมอกควันหนาทึบ และก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าปัญหาทั่วประเทศได้รับการปรับปรุงหรือไม่ หรือมลพิษเพียงแค่อพยพจากปักกิ่งไปยังที่อื่น โดย
เฉพาะอย่างยิ่งกับแผนใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้สำหรับเตาเผาถ่านหินและโรงไฟฟ้าใหม่หลายสิบแห่ง ส่วนนักสิ่งแวดล้อมก็ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ข้ามเส้นแดงทางการเมือง ที่จะไปทำให้รัฐบาลกลางโกรธ

 

แต่เมื่อมองไปที่กรุงปักกิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยหมอกควัน ก็ชัดเจนว่าความพยายามได้ผลตอบแทนแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่ความไม่พอใจของสาธารณชน ได้กระตุ้นให้ทางการจีนลงมือปฏิบัติ แม้ว่าความพยายามของพวกเขาเหล่านั้น จะได้รับการจัดการและปราบปรามอย่างรวดเร็วก็ตาม 

จากวันฟ้าหม่น ถึงวันที่ปักกิ่งฟ้าสดใส

logoline