svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

คุกตลอดชีวิต "สาธิต รังคสิริ" ทุจริตคืนภาษี

19 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพพากษาจำคุกตลอดชีวิต "สาธิตรังคสิริ" อดีตอธิบดีสรรพากร "สิริพงศ์" ลูกน้องคนสนิทร่วมทุจริตฯคืนภาษี 25 บริษัท สั่งให้ริบทองคำเเท่งของกลาง และร่วมกันชดใช้ความเสียหายกว่า3 พันล้าน ส่วนจำเลยที่ 3 โดนฐานสนับสนุน คุก 6 ปี 8 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 4

19 สิงหาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ เป็นจำเลยที่ 1-4 

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมและสนับสนุนการกระทำความผิด ร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงกรมสรรพากรเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต

 

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมสรรพากร ทราบดีว่าการดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนตามแนวทางปฏิบัติและระเบียบกรมสรรพากรและเมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รายงานมายังจำเลยที่ 1 กลับสั่งการให้สำนักงานตรวจสอบภาษีกลางไปตรวจสอบใบขนสินค้าขาออกกับกรมศุลกากร ว่ามีการส่งออกจริงหรือไม่เท่านั้น เป็นการสั่งการที่จงใจให้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 

 

พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้นถูกปกปิด จนจำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง นายประสิทธิ์ และนายกิติศักดิ์ กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริตกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 

 

จำเลยที่ 1 ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริตไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
 

การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบและทุจริตเบียดบังเงินของรัฐที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังและรัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097 ล้านบาทเศษ 

 

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา147(เดิม) 151(เดิม) และ 157(เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 

 

การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสียและฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์ นั้นเป็นบทหนักซึ่งมีโทษเท่ากัน

 

ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย แต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดชีวิต 

จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157(เดิม) 265(เดิม) 268(เดิม) 341(เดิม) ประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4(3) (6(เดิม)) (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86กระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน

 

ให้จำเลยที่ 1,3 เเละ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533 บาทแก่กรมสรรพากร 

 

นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ฟย. 23/2560 หมายเลขแดงที่ฟย. 47/2561ของศาลอาญา 

 

ริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัมและทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ ตามคำขอท้ายฟ้องและทองคำแท่งทุกรายการที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินเมื่อ 15 พ.ย. 62 

 

ยกฟ้องจำเลยที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

logoline