svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เกษตรฯแนะยกระดับ สมุนไพร เพิ่มมูลค่า

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มกอช.แนะเกษตรกรใช้มาตรฐานสินค้าสมุนไพร ยกระดับการผลิต ชี้มีโอกาสสร้างรายได้ทั้งตลาดในประเทศและส่งออกมูลค่าสูง 1.8 แสนล้านบาท เตรียมออกคู่มือปฏิบัติมาตรฐาน GAP ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ ธ.ค.นี้

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พิศาล พงศาพิชณ์ ระบุ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ครอบคลุมข้อกำหนดการผลิตทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตในแปลงปลูกถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้วัตถุดิบพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย เหมาะสมสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และครอบคลุมการผลิตวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่จำหน่ายในรูปผลิตผลสด และพืชสมุนไพรที่ผ่านการลดความชื้น ทั้งพืชสมุนไพร (Herbs) ที่ใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product) 

สำหรับ การจัดทำมาตรฐานสินค้าพืชสมุนไพร เป็นการกำหนดเกณฑ์คุณภาพของพืชสมุนไพร ตามมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรแห้ง จำนวน 5 ฉบับ แยกตามส่วนของพืชที่นำมา ได้แก่ ฉบับที่ 1 หัว เหง้า และราก ฉบับที่ 2 ใบ ส่วนเหนือดิน และทั้งต้น ฉบับที่ 3 ดอก ฉบับที่ 4 ผลและเมล็ด และฉบับที่ 5 เปลือกและเนื้อไม้ โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสมัครใจและได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ มกอช. กำลังดำเนินการจัดทำคู่มือประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้
 

ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยยกระดับการผลิตพืชสมุนไพรให้กับเกษตรกร และสามารถสร้างรายได้อีกมาก เพราะปัจจุบันพืชสมุนไพรกำลังได้รับความนิยม ซึ่งเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายมีการส่งเสริมใช้สมุนไพร ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยารักษาโรค โดยปี 2562 สมุนไพรไทยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 
 

“ประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบ ทั้งพืชสมุนไพรสด แห้ง สารสกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไปต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรยังมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร อีกทั้งการผลิตตามมาตรฐานจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและความมั่นใจในความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน”

logoline