svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ได้เวลาปั๊มเอง? เปิดต้นทุนผลิต "ฟาวิพิราเวียร์"

29 เมษายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมร่วมระหว่างนายกฯกับภาคเอกชน ทั้งหอการค้าไทย และ กกร. หรือ คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน เนื้อหามุ่งเน้นไปที่มาตรการรับมือการระบาดด้วยการ "ล็อกดาวน์" และการจัดหาวัคซีนเป็นหลัก โดยไม่ได้มีการพูดถึงการจัดหายาต้านไวรัส "ฟาวิพิราเวียร์" แต่อย่างใด

       จริงๆ แล้วก่อนที่ภาคเอกชนจะเข้าพบนายกฯ ได้มีการหารือนอกรอบร่วมกับกลุ่มหมอในโครงการ "สนับสนุนนักรบเสื้อขาวต้านภัยโควิด-19" เพื่อสรุปข้อมูลการเร่งจัดหายาต้านไวรัส โดยเฉพาะ "ฟาวิพิราเวียร์" เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าการจัดซื้อล็อตล่าสุด 3 ล้านเม็ด โดยยาเข้ามาแล้ว 2 ล้านเม็ดนั้น ยังไม่เพียงพอรับมือกับการระบาดระลอกใหม่นี้
       แต่ปรากฏว่าในวงหารือไม่มีการพูดถึงเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งๆ ที่มีการทำข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจ "ทีมข่าวข้นคนข่าว" จึงขอนำข้อมูลส่วนนี้มานำเสนอ เพราะเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ถูกรับรู้ในวงกว้าง 
       "ยาฟาวิพิราเวียร์" เป็นยาหลักในการรักษาและบรรเทาอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายที่เอกชนและกลุ่มหมอพยายามเสนอ ก็คือการจัดซื้อเพิ่มทั้งตัวยาที่ผลิตสำเร็จรูปแล้ว และสั่งนำเข้าสารเคมีมาผลิตเอง โดยผ่านกระบวนการขององค์การเภสัชกรรม และองค์การอาหารและยา 
       โดยจากการประเมินคาดว่าจะต้องมียานี้ในสต็อกราวๆ 10-20 ล้านเม็ดภายในกลางเดือนพฤษภาคม จึงจะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ จึงต้องใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการจัดหา จากนั้นให้กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัด จะได้ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องเตียง และห้องไอซียูที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติไม่เพียงพอ
       ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบออกประกาศฉบับที่ 3 โอนอำนาจของรัฐมนตรีและผู้รักษาการตามกฎหมายต่างๆ รวม 31 ฉบับ ไว้ที่นายกฯ รวมถึงอำนาจตามพระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติอาหาร และพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรมฯ  จึงสามารถลดขั้นตอนต่างๆ ทั้งการสั่งนำเข้ายา นำเข้าสารเคมีที่ใช้ในการผลิต และการสั่งผลิตยาเองด้วย 
       สำหรับยา "ฟาวิพิราเวียร์" คิดค้นโดยบริษัทญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันหมดอายุสิทธิบัตรไปแล้ว จึงสามารถสั่งซื้อสารเคมีที่ได้มาตรฐานจากจีนหรืออินเดียเข้ามาผลิตเองได้เลย โดยกลุ่มหมอในโครงการสนับสนุนนักรบเสื้อขาวต้านภัยโควิด-19 ให้ข้อมูลว่า โอกาสที่การระบาดระลอกนี้จะดันยอดผู้ป่วยสูงทะลุ 1 แสนคนยังมีความเป็นไปได้ 
       ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยน่าจะรับไม่ไหว จึงจำเป็นต้องมียามากถึง 10-20 ล้านเม็ด เพื่อกระจายยาไปทุกโรงพยาบาล ให้แพทย์สั่งจ่ายเพื่อรักษาการได้ทันที รวมทั้งผู้ป่วยใน hospitel โรงพยาบาลสนาม และผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home isolation ด้วย 
       ส่วนต้นทุนราคายาจากเดิมเม็ดละ 120-140 บาท แต่ขณะนี้ราคาลดลงมาก หากสั่งนำเข้าสารเคมีมาผลิตเอง คาดว่าต้นทุนยาจะอยู่ที่เม็ดละ 6-7 บาทเท่านั้น ผลิต 10 ล้านเม็ด ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท
       เพราะราคาสารเคมีที่นำมาใช้ผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 29,610 บาท นำมาผลิตเป็นเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัมได้ 5,000 เม็ด (เฉลี่ยเม็ดละประมาณ 6 บาท) ขณะที่ผู้ป่วยแต่ละคนต้องรับยาคอร์สหนึ่งราว 90 เม็ด คิดเป็นเงินก็อยู่ที่คอร์สละประมาณ 600 บาท

logoline