svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"หญิงหน่อย" วอนช่วย SMEs "โปรดเร่งช่วยคนตัวเล็กก่อนหมดลมหายใจ"

05 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โพสต์ขอให้เร่งช่วยกลุ่มธุรกิจ SMEs ชี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ แนะปรับโครงสร้างหนี้-ปรับเกณฑ์การค้ำประกัน-ออกกองทุน SME โดยเอกชน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความดังนี้...
ขอทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็ก
ดิฉันได้มีโอกาสประชุมหารือกับผู้ประกอบการ SMEs จากสภา SMEs ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคหลายครั้ง จึงขอทำหน้าที่ สะท้อนความทุกข์และขอร้องให้รัฐบาลเร่งลงมือช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ SMEs รวมทั้งกลุ่มที่กำลังจะต้องทยอยปิดตัวลง จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังซื้อหดหาย เงินทุนหมุนเวียนกำลังจะหมด
โดยกลุ่มธุรกิจของคนตัวเล็กเหล่านี้ ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ
เพราะธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางเหล่านี้ มีการจ้างแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวนมากถึง 13.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.47% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดตัวลงไป จะมีคนตกงานเพิ่มอีกเป็นจำนวนมากที่จะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของไทยให้ทรุดหนักลงไปอีก
โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางของคนไทย ตามรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สสว.) ในปี 2561 มีจำนวน 3 ,077,822 ราย จำนวน 99.79% เป็นรายเล็ก(SE) ถึง 3,063,651 ราย และรายกลาง (ME) มีอยู่เพียง 14,171 ราย


ขณะที่มาตรการของรัฐบาลในปัจจุบัน อย่าง Soft Loan 500,000 ล้านบาท ของ ธปท. SMEs กว่า 90% เข้าไม่ถึง ด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องปล่อยกู้ให้เฉพาะลูกหนี้เดิมของธนาคาร และไม่เป็น NPL จำกัดวงเงินไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้างและไม่เกิน 500 ล้านบาท
โดยขณะนี้เรามี SMEs ที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 468,000 ราย (ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) แต่เป็น NPL ไปแล้วกว่า 100,000 ราย
จึงขอให้รัฐบาลเร่งดูแลธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางเหล่านี้ ก่อนที่คนตัวเล็กที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เหล่านี้จะ "หมดลมหายใจที่จะสู้ต่อ" โดยขอเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธุรกิจที่เดินต่อได้ แต่ขาดสภาพคล่อง เป็นเวลา 2 ปี
2. ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 ลดเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ที่ดำเนินการตามปกติ และกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติม ในกรณีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ให้ (บสย.) ค้ำประกันวงเงินเพิ่มให้กับ SMEs ที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มวงเงินแล้ว
2.2 ให้ (บสย.) ขยายสัดส่วนการค้ำประกันเป็นร้อยละ 50-75 เพื่อลดภาระความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ที่กำลังขาดสภาพคล่อง

3. ออกกองทุน SME โดยให้เอกชน อย่างเช่นสภา SMEs เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อตัดปัญหากลไกและกระบวนการภาครัฐไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ กองทุนทุนนี้ควรเริ่มต้น ในวงเงิน 300,000 ล้าน จากวงเงิน Soft Loan 500,000 ล้าน ที่ปล่อยกู้ไปได้เพียง 100,000 ล้าน เพื่อเป็นกลไกพิเศษ ที่จะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง
"โปรดเร่งช่วยคนตัวเล็กก่อนหมดลมหายใจ"

logoline