svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดีเดย์ฟื้นฟูเหมืองทอง​ จ.เลย ต้นปี 63  คาดใช้งบประมาณ 2-3 พันล้านบาท

04 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บข้อมูลผลกระทบและจัดทำแนวทางฟื้นฟู เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เสนอต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สิ้นปีนี้เพื่อดำเนินการฟื้นฟู บ่อทิ้งกากแร่ ที่รั่วซึม ต้นปี 63 คาดใช้งบประมาณ 2-3 พันล้านบาท

4 ต.ค. 62 - ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า หลังจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของใบประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ล้มละลายจึงไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังได้ผลจากคำสั่ง คสช. ม. 44 ปิดเหมืองทองทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา จึงต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งปัจจุบันทีมนักวิชาการได้ลงพื้นที่สำรวจและวางแผนฟื้นฟูคร่าวๆ โดยเตรียมที่จะเสนอต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภายในสิ้นปีนี้เพื่อเริ่มดำเนินการฟื้นฟูอย่างจริงจังราวต้นปี 2563 คาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 2 ถึง 3 พันล้านบาท

โดยส่วนที่จำเป็นต้องฟื้นฟูเร่งด่วน คือบริเวณบ่อทิ้งกากแร่ 98 ไร่ที่พบว่ามีการรั่วซึมออกมาในร่องน้ำเหล็ก ซึ่งเป็นลำรางสาธารณะ ที่ตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน ชาวบ้านไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ ยังคงได้รับผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้

วิธีการมี 2 แนวทาง แนวทางแรกคือการขุดดินทั้งหมด ที่เป็นกากแร่ออกไปฝังกลบในบริเวณอื่นที่ปลอดภัย ส่วนวิธีการที่ 2 คือการ ฉีดปูนซีเมนต์ลงไปคลุมดินให้เป็นก้อนทั้งหมดไม่ให้มีการรั่วซึมออกมา ซึ่งวิธีสุดท้ายใช้งบประมาณที่ต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากชาวบ้าน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจำนวนงบประมาณที่ได้รับ

สำหรับกรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เป็นเหมืองที่ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 380 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเป็นต้นน้ำของชุมชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองซึ่งอยู่ต่ำกว่าราว 100 เมตร มีบ่อทิ้งกากแร่พื้นที่ 98 ไร่ สร้างขึ้นทับทางน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึมตามธรรมชาติที่ชาวบ้านเรียกว่า ตานำ้ห้วยดินดำ ทำให้เกิดการกระจายของการปนเปื้อนโลหะหนัก ไซยาไนด์ ซึ่งทิ้งไว้จากกระบวนการแต่งแร่และภายหลังปิดเมืองไปแล้วบ่อทิ้งกากแร่ไม่มีการดูแลและรั่วออกมา

ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ผู้แทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า นอกจากความเสี่ยงในการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม โซ่อาหาร และในร่างกายคนแล้ว การปนเปื้อนทางสังคมการเมืองและอำนาจจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย สะท้อนผ่านปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน มีการละเมิดสิทธิชุมชนความบิดเบี้ยวของกฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้องเช่นกฎหมายแร่ที่มีข้อห้ามในการทำเหมืองบนพื้นที่ต้นน้ำ แต่เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ก็สร้างขึ้นได้ และมีโรงแต่งแร่อยู่บนต้นน้ำ เห็นได้ว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ใช้บังคับไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้น เห็นได้จากการทำร้ายร่างกาย ขู่บังคับ ตลอดจนฟ้องคดีเพื่อการแกล้งรวม 27 คดี ที่เกิดจากความขัดแย้งและการต่อสู้ใช้สิทธิ์ของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งล้มเหลวในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม

logoline