svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

โลจิสติกส์อัจฉริยะ จะเปลี่ยนโลก!!!

12 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ในการผลิตสินค้าในโรงงานและการควบคุมโกดังสินค้า ไปจนถึงการใช้ยานพาหนะไร้คนขับและโดรนในการขนส่ง จึงทำให้ห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

บวกเข้ากับความเป็นไปได้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Blockchain จึงทำให้ห่วงโซ่อุปทานในอนาคตจะดำเนินการได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ และสามารถควบคุมจากระยะไกลได้แบบ realtime
การทำธุรกรรมที่เชื่อถือได้ในระบบ Blockchain ทำให้เกิดการปฏิวัติกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามในอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ และการมีอุปกรณ์ที่สวมใส่, หุ่นยนต์ และ Machine learning ที่ช่วยเร่งให้กระบวนการสามารถปฏิบัติตามคำสั่งซื้อได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้แพลตฟอร์ม IoT สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อกับร้านค้าปลีกกับผู้จัดส่งสินค้าและผู้ขนส่งได้ด้วยคลิกเดียว
ห่วงโซ่อุปทานในอนาคตจะดำเนินการได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ จัดการง่ายขึ้น รวดเร็วและคล่องตัวขึ้น การพัฒนานี้ได้ถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า
จากการวิเคราะห์ของ Frost & Sullivan ถึงอนาคตของโลจิสติกส์ 5 อันดับแรกที่จะเกิดในอุตสาหกรรม โดยการศึกษานี้พิจารณาใน 3 มุมมองสำหรับอุตสาหกรรมคือ เทคโนโลยี, ธุรกิจ และการตลาด ซึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ลอจิสติกส์ภายในปี 2030 ดังนี้เทคโนโลยีที่ 1: การดำเนินการได้เองแบบอัตโนมัติจะเพิ่มประสิทธิภาพแบบก้าวกระโดด
โดรนเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากตั้งแต่ Amazon ประกาศว่าจะใช้โดรนในการส่งสินค้า นอกจากเรื่องโดรนที่เป็นแนวโน้มที่จะเกิดในอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการขนส่งด้วยยานพาหนะรูปแบบอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นและดำเนินการด้วยตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนมีการทดลองใช้โดรน ซึ่งที่จริงแล้วยานพาหนะแรกที่มีการทดลองใช้ให้มีการดำเนินการด้วยตัวเองคือ "รถยก" เนื่องจากการใช้คนขนย้ายทำให้ได้งานช้า
ดังนั้นรถยกแบบใหม่ที่เรียกว่า "หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้แบบอัตโนมัติ" ไม่เพียงแต่จะมาแก้ปัญหานี้เท่านั้น แต่ยังมีความสามารถประมวลผลข้อมูลการรับและจัดส่งสินค้าซึ่งเร็วกว่ามนุษย์ถึง 4 เท่า
มีความเป็นไปได้ที่ยานพาหนะสำหรับขนส่งจะสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ รถบรรทุกไร้คนขับและรถบรรทุกแบบขับเคลื่อนได้เองจะมีการใช้งานจริงในปี 2030 สำหรับรถบรรทุกกึ่งอัตโนมัติจะมีอัตราการใช้ 5% ภายในปี 2030 โดย Rolls Royce ได้ประกาศแผนการที่จะเปิดตัวเรือบรรทุกสินค้าที่ดำเนินการได้ด้วยตัวเอง (หรือที่ The Economist เรียกว่า "Ghost Ships") ภายในปี 2030 เป้าหมายสำคัญของเทคโนโลยีที่ดำเนินการได้ด้วยตัวเอง
นั่นคือการมาแทนที่หรือมาช่วยการทำงานของมนุษย์ในการจัดการต่างๆ และยังจะช่วยประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ เช่น การใช้รถบรรทุกไร้คนขับสามารถช่วยประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงได้มากถึงร้อยละ 20
ในขณะที่เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งยังคงเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมมากที่สุด ด้วยการมีเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ทำให้มีปัจจัยใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานคือ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และอาจจะเป็น "ข้อมูลที่ดี (Good Data)" ด้วย
เทคโนโลยีที่ 2: ข้อมูลจะมาแทนที่เชื้อเพลิงและจะมีอิทธิพลมากที่สุด
เมื่อมีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคุณค่าของข้อมูล เช่น Amazon ต้องการจัดส่งสินค้าของคุณแม้แต่ก่อนที่คุณจะรู้ว่าคุณต้องการสินค้านั้น ดังนั้นรูปแบบปัจจุบันคือ เมื่อ Amazon ได้รับคำสั่งซื้อและส่งสินค้าผ่านทาง UPS โดยได้พยายามอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับร้านค้าปลีกเพื่อส่งมอบสินค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจของลูกค้าในทันที
ด้วยความพยายามทั้งหมดทั้งการใช้โดรนและหุ่นยนต์ได้มีการนำมาใช้เพื่อลดเวลาในการจัดส่งและทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าทันทีที่ต้องการ เมื่อปีที่ผ่านมา Amazon กล่าวว่า มีการใช้โดรนในการจัดส่งพัสดุขนาดเล็กโดยตรงจากคลังสินค้าไปยังที่อยู่ของลูกค้าแล้ว
Amazon มีสิทธิบัตรเกี่ยวกับ "การขนส่งที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้" ประกอบกับยานพาหนะยุคใหม่สามารถทำให้สามารถจัดส่งได้ทันที ซึ่งความเป็นไปได้ที่โลจิสติกส์จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ "ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง" ซึ่งจะมีความสำคัญมากกว่าความสามารถที่แท้จริงในการขนส่งสินค้าเสียอีกในอนาคตอันใกล้
เทคโนโลยีที่ 3: เทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีสินทรัพย์เป็นศูนย์กลางที่น้อยลง
กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีสินทรัพย์เป็นศูนย์กลางหรือจะมีสินทรัพย์เป็นศูนย์กลางน้อยลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหม่ที่ไม่มีสินทรัพย์ (คือไม่มียานพาหนะหรือโกดังสินค้า) แต่สามารถให้บริการด้านโลจิสติกส์ได้โดยการรวบรวม "ข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์"
ตัวอย่างเช่น Shyp และ Zipments เป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ เช่น เสนอราคาค่าขนส่งหรือความจุของรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งสินค้า แต่พวกเขาไม่มีสินทรัพย์ของตัวเอง ดังนั้น ความสามารถในการให้บริการจึงแข่งขันโดยลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสินทรัพย์หรือการจัดการเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง
สัญญาณดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ถึงอนาคตของโลจิสติกส์ที่น่าสนใจที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และผู้จัดจำหน่ายทั่วไปในตลาดจะมีวิวัฒนาการไปสู่แนวทางที่ให้คำปรึกษามากขึ้น และกลายเป็นเหมือนผู้จัดการโครงการมากกว่าที่จะเป็นผู้ขนส่งสินค้าที่แท้จริง ซึ่งนำไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ เช่นนายหน้าออนไลน์ (E-Brokerage) เป็นต้น
เทคโนโลยีที่ 4: แพลตฟอร์มนายหน้าออนไลน์ (E-Brokerage) (เช่น รูปแบบ Uber)
การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อจะนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ สำหรับบริษัทขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ความแพร่หลายของระบบดิจิทัลในรถบรรทุกจะทำให้นายหน้าขนส่งสินค้าแบบดั้งเดิมปรับรูปแบบธุรกิจของตนไปสู่โซลูชั่นประเภทนายหน้าขนส่งสินค้าบนมือถือแทน
แอพลิเคชันบนมือถือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนายหน้าขนส่งที่เรียกว่า "การเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งโดยรถบรรทุก (uberization of trucking)" ซึ่งในอนาคตนายหน้าขนส่งสินค้าบนมือถือ คาดว่าจะสามารถพัฒนาซอฟท์แวร์ได้เองโดยมีความร่วมมือกับนายหน้าขนส่งสินค้าแบบดั้งเดิม
ลองนึกว่าถ้ามีแอพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ถูกใช้เพื่อจัดคนขับรถรถบรรทุกให้ตรงกับความต้องการของผู้ขนส่งทั้งอัตราจ้าง ระยะทางและตารางขนส่งได้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้โดยอัตโนมัติในหลายขั้นตอนเกี่ยวกับสถานะการจัดส่งสินค้า การค้นหาสินค้า และการจ่ายเงินคนขับรถ นอกเหนือจากการให้ข้อมูลแบบ realtime ที่สำคัญเกี่ยวกับการส่งมอบที่ถูกต้องแม่นยำ ตั้งแต่การรับสินค้าไปจนถึงการจัดส่งสินค้า
จากการสูญเสียรายได้มหาศาล เนื่องจากการวิ่งรถโดยไม่มีสินค้าอยู่บนรถ และปัญหาบรรทุกเกินความจุ ทำให้ธุรกิจต้องมีการลดต้นทุนด้านปฏิบัติการโดยปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง โดยอนาคตทุกอย่างจะมุ่งสู่บริการออนไลน์ บริษัทนายหน้าขนส่งสินค้าแบบเดิม ๆ จะหายไป
เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอายุ 150 ปีที่ได้รับความไว้วางใจ ซึ่งการเกิดขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่นี้จะทำให้เกิดความซับซ้อนในเรื่องข้อกำหนดและกฎหมายใหม่มากขึ้น โดยอุตสาหกรรมนี้จะมุ่งสู่แนวทางในการลดการใช้กระดาษ เช่น การใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนกระบวนการอัตโนมัติที่มีความโปร่งใสได้อย่างรวดเร็วแบบ realtimeเทคโนโลยีที่ 5: การทำธุรกรรมอัจฉริยะด้วย Blockchain
เมื่ออินเตอร์เน็ตทำให้เกิดวิวัฒนาการไปสู่แอพพลิเคชันบนเว็บ, คลาวด์โซลูชั่น, SAAS, Blockchain แบบ peer-to-peer ที่มีศักยภาพในการสร้างช่องทางนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและนำไปใช้งานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain อาจกลายเป็นระบบปฏิบัติการใหม่สำหรับเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่รวมการเชื่อมต่อแบบ B2B เข้ากับแอพพลิเคชั่นด้วย
อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นหัวหน้าคลังสินค้าที่รับผิดชอบเรื่องการไหลเวียนของสินค้า อาจมีบางครั้งที่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ครบถ้วนหรือทันเวลา ทำให้เกิดปัญหาและจะต้องไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบ
ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain จะลดการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถเจรจาต่อรองอย่างชาญฉลาดกับซัพพลายเออร์ได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการทำงานระหว่างทั้งสองฝ่ายได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ยังสามารถควบคุมข้อมูลทั้งหมดเพื่อสร้างข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสถานะสินค้า และเวลาในการจัดส่งอย่างสมบูรณ์
มีการคาดการณ์ว่าจะมีใช้ Blockchain มากขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่องมือการจัดการซัพพลายเออร์อื่นๆ เนื่องจากคาดว่าจะสามารถติดตามรายละเอียดได้อย่างถูกต้องตั้งแต่การเริ่มมีคำสั่งซื้อจนถึงการจัดส่ง ทำให้สามารถมองเห็นภาพห่วงโซ่อุปทานได้ทั้งหมดและยังทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีได้ทุกที่ทุกเวลา
ด้วยความก้าวหน้าของ Blockchain ที่ขยายการใช้งานไปสู่ห่วงโซ่อุปทานในอนาคตนั้น อีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องความเป็นไปได้ที่ห่วงโซ่อุปทานจะโปร่งใสขึ้นและมีกระบวนการชำระเงินที่มีนวัตกรรมที่คาดว่าจะสร้างแรงจูงใจในรูปแบบใหม่ๆ เช่นระบบนายหน้าขนส่งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่
ในอนาคต ห่วงโซ่อุปทานที่ดำเนินการได้เองแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ดังนี้
ช่องว่างระหว่างการสั่งซื้อและส่งมอบสินค้าจะต้องน้อยลง โดยใช้เวลาไม่กี่วินาที การจัดส่งในวันเดียวจะกลายเป็นการจัดส่งในไม่กี่ชั่วโมง
Blockchain จะช่วยให้สามารถชำระเงินได้ทั้งหมดทั้งกระบวนการ อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ anywhere anytime
ร้อยละ 50 ของยานพาหนะทั้งหมดจะมีระดับของการดำเนินการได้เองที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติการได้เองทั้งหมดและกึ่งปฏิบัติการได้เอง
ปริมาณการขนส่งในคลังสินค้าลดลงร้อยละ 50 และขนาดของคลังสินค้าลดลงร้อยละ 30 โดยมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น
ถ้าการคาดการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่าในอนาคตจะเป็นยุคของข้อมูลที่เราจะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาลดความไม่แน่นอนต่างๆ และลดต้นทุนได้อย่างมาก
ซึ่งบริษัทที่ปรับตัวสู่ digital transformation ได้สำเร็จและทันการณ์ ก็จะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ส่วนบริษัทที่ปรับตัวไม่ทัน ก็อาจจะต้องหลุดออกจากเกมการแข่งขันในที่สุด

Referencehttps://www.forbes.com/sites/sarwantsingh/2016/09/22/future-of-logistics-5-technologies-that-will-self-orchestrate-the-supply-chain/3/#f41b5c1a673c
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมwww.เศรษฐพงค์.comLINE id : @march4G

logoline