svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สุทธิชัย หยุ่น ฟันธง ร่างกฎหมายคุมสื่อ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ!

28 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น เช้านี้ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กรณี ร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ เร่งผลักดัน ผ่านคอลัมน์ "กาแฟดำ"


โดย สุทธิชัย หยุ่น ชี้ว่า ร่างกฎหมายนี้ เนื้อแท้คือ การกำกับ ควบคุมและตีทะเบียนสื่อ เพื่อกำจัดเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง!
"เสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน ใครต้องการตีตรวน หรือตีทะเบียนคนทำสื่อ ก็คือการกักขังความคิดของประชาชน"
ทั้งนี้ในคอลัมน์ "กาแฟดำ" ของ สุทธิชัย หยุ่น ระบุว่า ..

"ร่างกฎหมายสื่อใหม่ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ
ความพยายามที่จะ "ตีทะเบียน" คนทำสื่อโดยให้อำนาจนี้ แก่คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ"

ตามร่างกฎหมายที่กำลังจะเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะกลายเป็นเรื่องอัปยศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
กลุ่มผู้นำเสนอพระราชบัญญัติฉบับนี้อ้างว่าเป็นร่างกฎหมายเพื่อ "คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน"
แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการกำกับ ควบคุมและตีทะเบียนสื่อ เพื่อกำจัดเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าใครจะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตใครเป็นคนให้ใบอนุญาต?
ร่างกฎหมายบอกว่าคือ "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" ซึ่งจะมีกรรมการ 15 คนประกอบด้วยผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 คน ปลัดสำนักนายกฯ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการอื่นอีก 4 คนซึ่งกำหนดคุณสมบัติคือต้องเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและภาคประชาชน
ใบอนุญาตนั้นจะได้มาอย่างไร? คนร่างอ้างว่าจะมีบทเฉพาะกาล กำหนดให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันที่จะมีกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ จากนั้น ภายใน 2 ปี ต้องเข้าสู่ระบบของสภาวิชาชีพฯ
บุคคลที่จะทำอาชีพสื่อมวลชนหลังกฎหมายบังคับใช้ต้อง "ผ่านการอบรมปฐมนิเทศ"
ใครไม่เข้าระบบใบอนุญาตจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทกันทีเดียว!
ขอให้ทราบโดยทั่วกันว่าคนวงการทำสื่อต่อต้านเรื่องนี้อย่างสุดฤทธิ์ครับ และจะประท้วงถึงที่สุด ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่านี่คือความพยายามที่จะปิดปากประชาชน ให้ผู้มีอำนาจมาครอบงำการไหลเทอันเสรีของข่าวสาร เป็นการสวนทางกับการ "ปฏิรูป" ให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 ซึ่งเน้นนวัตกรรมและการเปิดกว้างให้กับการแสดงความคิดเห็นและความคิดใหม่ ๆ อย่างเสรีอย่างแท้จริง
คนเสนอร่างพยายามจะอ้างว่าในคณะกรรมการสภาอาชีพฯ นี้ จะมีตัวแทนจากวงการสื่อมากกว่าจากรัฐบาล
ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงสัดส่วนใครจากไหน
ประเด็นอยู่ที่ความคิดที่จะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ใครทำสื่อได้ ใครทำสื่อไม่ได้นั้นเป็นวิธีคิดแบบเผด็จการ ที่ต้องการจะควบคุมความคิดเห็นของประชาชน
แม้จะให้คณะกรรมการของสภาอาชีพสื่อฯ ชุดนี้เป็นตัวแทนจากสื่อทั้ง 100% ก็รับไม่ได้
เพราะผิดหลักการสากลที่ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนเป็นอาชีพที่คนทุกคนสามารถทำได้ ตราบเท่าที่ยึดถือหลักจริยธรรม และความรับผิดชอบตามกฎหมายและกติกาของสังคม
เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน ใครต้องการตีตรวนหรือตีทะเบียนคนทำสื่อ ก็คือการกักขังความคิดของประชาชน
คนกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครไม่ควรจะมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้ใครประกอบอาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนอะไรมาหรือมีพื้นภูมิทางด้านไหน ตราบที่สามารถทำหน้าที่เป็น "สื่อที่รับผิดชอบ" และทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนได้
ร่างกฎหมายฉบับนี้อันตรายอย่างยิ่งเพราะกำลังมอบอำนาจให้กำหนดว่าใครบ้างที่ทำหน้าที่สื่อได้
เพราะใครมีอำนาจให้ใบอนุญาตก็มีอำนาจถอนใบอนุญาต
สื่อที่ต้องทำงานภายใต้อำนาจเช่นนี้ ก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่อาจจะตั้งคำถามที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบ อีกทั้งนักการเมืองก็สามารถที่จะแทรกแซงการทำงานของสื่อผ่าน "สภาวิชาชีพสื่อฯ" นี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างแน่นอน
ยิ่งในยุคสมัครที่ "ทุกคนเป็นนักข่าว" ได้เพราะเทคโนโลยี การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างให้อภัยไม่ได้ เพราะหากตีความตามที่เสนอ ใครที่เขียนแสดงความเห็นในสื่อ social media ก็จะเข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตเป็นสื่อ
อย่างนี้มิแปลว่าคนค่อนประเทศจะกลายเป็น "สื่อที่ต้องขอใบอนุญาต" เพียงเพื่อแสดงความเห็นในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศหรือ?
คำถามสำคัญก็คือว่าคณะกรรมการของ "สภาวิชาชีพสื่อฯ" ที่ว่านี้จะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตเป็นสื่อได้นั้นอย่างไร? ต้องจบวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์หรือ? จบ ป. 4 ได้ไหม? จบแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์ได้หรือไม่? ต้องมีประสบการณ์อะไรมาก่อนหรือเปล่า?
ไม่ว่าจะเขียนกติกาใหม่นี้อย่างไร ก็จะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่สวนทางกับการปฏิรูปประเทศ ให้ไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและการเปิดกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
ตลกร้ายมาก ๆ ก็คือที่ผู้เสนอกฎหมายนี้บอกว่าคนขอใบอนุญาตเป็นสื่อจะต้องผ่านการ "อบรมและปฐมนิเทศ" ก่อน
ใครจะเป็นคนอบรมครับ? อบรมอะไรครับ? คนที่อบรมมีคุณสมบัติเป็นสื่อได้ดีกว่าคนถูกอบรมหรือครับ?เพราะคนสื่ออยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและอาญามากมายหลายฉบับเต็มประตูแล้ว ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือใครอะไรทั้งสิ้น
ใครที่คิดจะควบคุมเสรีภาพแห่งการแสดงออกของสังคม ใครคนนั้นคืออุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศชาติ"

อ่านเพิ่มเติม :"คนข่าว" ค้าน กม.คุมสื่อพร้อมใจกันเปลี่ยนโปรไฟล์กระชากโซ่ตรวนปลดปล่อยนกพิราบ"หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน"http://www.nationtv.tv/main/content/social/378545156/5 เหตุผล ทำไมต้องค้าน "ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ" http://www.nationtv.tv/main/content/social/378545127/

logoline