svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ร้องบิ๊ก"ทอท."ตัดตอน-ฟันปลาซิวโกงซื้อสวิทช์เกียร์

07 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีประเด็นทุุจริต และการตรวจสอบทุจริตใน ทอท. หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเรื่องราวบานปลายไปถึง ป.ป.ช. กล่าวหาผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ต้นเรื่องมาจากการจัดซื้อพร้อมติดตั้งตู้สวิทช์ไฟฟ้าแรงสูง 24 kV สำหรับสถานีไฟฟ้าย่อยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า การจัดซื้อในปีงบประมาณ 2554, 2556 และ 2557 ราคาแพงกว่าปกติหลายสิบเปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท เพราะเมื่อต่อมามีการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบในการออกข้อกำหนด หรือ "สเปค" ในการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2558 ปรากฏว่าราคาของสวิตช์เกียร์ลดลงกว่าเดิมถึง 63.55%

สำหรับตัวเลขงบประมาณในการจัดซื้อแต่ละปี เริ่มจากปี 2554 จัดซื้อสวิทช์เกียร์ 7 ชุด วงเงินงบประมาณ 135.39 ล้านบาท ราคากลางเท่ากับวงเงินงบประมาณ เอกชนที่ชนะประมูลเสนอราคาที่ 135.11 ล้านบาท โดยปี 2556 จัดซื้อสวิทช์เกียร์ 15 ชุด วงเงินงบประมาณและราคากลางอยู่ที่ 404.64 ล้านบาท เอกชนที่ชนะประมูล เสนอราคา 404.24 ล้านบาท และปี 2557 จัดซื้อสวิทช์เกียร์ 9 ชุด วงเงินงบประมาณและราคากลางอยู่ที่ 166.12 ล้านบาท เอกชนที่ชนะประมูล เสนอราคา 165.5 ล้านบาท

ร้องบิ๊ก"ทอท."ตัดตอน-ฟันปลาซิวโกงซื้อสวิทช์เกียร์



จากการตรวจสอบพบว่าเอกชนที่ชนะประมูลทั้ง 3 ปีงบประมาณ เป็นรายเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประมูลและเสนอราคาแข่งขันก็เป็นรายเดียวกัน และเป็นการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงหลักแสนบาททั้ง 3 ปี ทั้งๆ ที่สวิทช์เกียร์ที่จัดซื้อมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาท

กระทั่งปี 2558 มีการจัดซื้อสวิทช์เกียร์ 9 ชุด เท่ากับปี 2557 แต่มีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนดใหม่ มีการกำหนดราคากลางเพียง 100.83 ล้านบาท และเอกชนที่ชนะประมูลเป็น "เอกชนรายใหม่" เสนอราคาอยู่ที่ 57.23 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่เอกชนรายเก่า ก็เข้าร่วมเสนอราคาด้วย เป็นสินค้าสเปคและยี่ห้อเดียวกันกับที่เคยชนะประมูลทั้ง 3 ปี แต่กดราคาต่ำลงมาใกล้เคียงกับบริษัทที่ชนะประมูล แสดงว่าการจัดซื้อ 3 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอราคาแพงมาก และอาจไม่ได้มีการแข่งขันราคากันจริงๆ


ต่อมาในปี 2559 ทอท.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทุจริตจัดซื้อสวิทช์เกียร์ พบว่ามีการ "ล็อคสเปค" เพื่อให้ผู้เสนอราคารายอื่นตกคุณสมบัติ และไม่มีการแข่งขันราคากันจริง ทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหาย จึงเสนอเรื่องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเจ้าหน้าที่ ทอท. 5 ราย

โดยผลสอบออกมาว่า มีผู้เข้าข่ายกระทำผิดวินัยร้ายแรง 2 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ซึ่ง 1 ใน 2 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำข้อกำหนดในการประมูล ส่วนที่เหลือไม่มีความผิดเลย หนำซ้ำหนึ่งในนั้นยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จากระดับ 9 เป็นระดับ 10 ด้วย ทั้งๆ ที่มีชื่อใน "คณะกรรมการสเปค" ที่มีอำนาจตรวจสอบและอนุมัติการจัดซื้อในขั้นตอนสุดท้าย

ร้องบิ๊ก"ทอท."ตัดตอน-ฟันปลาซิวโกงซื้อสวิทช์เกียร์






จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างที่มีความผิดและถูกปลดออก จึงทำหนังสืออุทธรณ์ผลการสอบสวนในหลายประเด็น ซึ่งทาง ทอท.ก็มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นมา และคณะกรรมการมีความเห็นว่าอุทธรณ์บางข้อฟังขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ที่อยู่ในคณะกรรมการสเปค ต้องมีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหายด้วย จากการซื้อสวิทช์เกียร์แพงเกินจริงไปหลายร้อยล้านบาท

ผลพิจารณาอุทธรณ์นี้ออกมาเมื่อปลายปี 2562 โดยคณะกรรมการฯ เสนอให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อที่เข้าข่ายมีความผิดเพิ่มเติม และให้ ทอท.ดำเนินการร้องทุกข์ในคดึอาญากับพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุ ในความผิดฐานเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และต้องฟ้องร้องทางแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

หลังจากมีผลการสอบสวนออกมา จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 1 ปีแล้ว แต่ทาง ทอท.ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งลงโทษทางวินัยเพิ่มเติม ทั้งร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญา และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ล่าสุดจึงมีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนความผิดผู้บริหาร ทอท. ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.

ร้องบิ๊ก"ทอท."ตัดตอน-ฟันปลาซิวโกงซื้อสวิทช์เกียร์

logoline