svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

'ศักดิ์สยาม' ถกรฟท. เคลียร์ปมไฮสปีด 3 สนามบิน

23 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการอีอีซี ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้าว่าจะเป็นเรือธงในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ในฐานะเจ้าของโปรเจกต์ เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 และใช้เวลาประมาณ 7 เดือน เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการประกวดราคา ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอขอรับวงเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดคือ 117,226.87 ล้านบาท   
ที่ผ่านมารัฐบาลต้องการเร่งรัดให้ลงนามสัญญาโครงการโดยเร็ว เพื่อหวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 4 เดือนหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติผลประมูล แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ และมีแนวโน้มว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง 
หนึ่งในสาเหตุที่กลุ่มซีพีใช้เป็นเหตุผลที่ไม่ยอมลงนามสัญญาคือ รฟท.ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดได้ ซึ่งกลุ่มซีพีมองว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากเซ็นสัญญาไปแล้ว แต่ไม่สามารถก่อสร้างงานได้แล้วเสร็จตามกำหนด กลุ่มซีพีจะต้องจ่ายค่าปรับสูงถึงวันละ 9 ล้านบาท 
สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหายังไม่สามารถส่งมอบได้มีประมาณ 1,270 ไร่ จากทั้งหมด 4,421 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก พื้นที่ที่ยังมีสัญญาเช่ากับเอกชนรายอื่น และพื้นที่ที่ต้องออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี 
ทางออกที่รฟท.นำมาใช้ เพื่อให้เกิดการลงนามสัญญาได้ คือจะยังไม่ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง ที่เรียกกันว่า Notice to Proceed  หรือ NTP ให้กลุ่มซีพี จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ทั้งหมด และเมื่อออกหนังสือแล้วจึงจะเริ่มนับวันเริ่มต้นก่อสร้าง ซึ่งกลุ่มซีพีจะมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งเท่ากับว่าโครงการนี้จะไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามที่กำหนดไว้ในปี 2568 
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ บอกว่า การลงนามสัญญาโดยยังไม่ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้างให้กลุ่มซีพี ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ใช้วิธีการนี้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ส่วนวิธีการนี้จะทำให้โครงการล่าช้าหรือไม่นั้น รฟท.มองว่าหากล่าช้าแต่ไม่เกิดความเสียหาย ก็น่าจะดีกว่าเร็วแต่ไม่รอบคอบ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดค่าโง่ขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ รักษาการผู้ว่าการ รฟท.จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงความคืบหน้าการลงนามสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มซีพี  ซึ่งล่าสุดกลุ่มซีพีแจ้งว่าการลงนามสัญญาจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์นับจากนี้ 
หลังจากนี้ คงต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายแล้วการลงนามสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะเกิดขึ้นเมื่อใด และเงื่อนไขที่ภาครัฐดำเนินการเพื่อให้เกิดการเซ็นสัญญาได้นั้น สุดท้ายแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด 
ทีมข่าวเศรษฐกิจเนชั่นทีวี รายงาน  

logoline