svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทุ่ม 429 ล้าน! ฟื้นชายหาดพัทยา

09 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบพื้นที่โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาและกล่าวแสดงความยินดีในงานประชาสัมพันธ์ "กรมเจ้าท่า ฟื้นชายหาดพัทยา คืนความสุขให้ประชาชน" ณ ชายหาดพัทยากลาง จังหวัดชลบุรี

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบพื้นที่โครงการเสริมทรายชายหาดกรมเจ้าท่า และกล่าวแสดงความยินดีในงานประชาสัมพันธ์ "กรมเจ้าท่า ฟื้นชายหาดพัทยา คืนความสุขให้ประชาชน" พร้อมด้วยนายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนายรณกิจ เอกะสิทธิ์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวต้อนรับ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวรายงาน และนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงประโยชน์โครงการต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมด้วยนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศาตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นเกียรติ



สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เกิดขึ้นเพราะสภาพชายหาดเมืองพัทยาซึ่งเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหาชายหาดมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงถึงกว่า 5 เมตรต่อปี และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้ชายหาดบางช่วงขาดหายไปภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ดังนั้นจึงได้มีนโยบายเร่งด่วน เดินหน้าโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท รวมระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจริมชายหาดเมืองพัทยา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาชายหาดที่สูญหายไป และเพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด พร้อมทั้งปรับทัศนียภาพชายฝั่ง ให้น่าท่องเที่ยว ดึงดูดผู้มาเยี่ยมเยือนได้มากยิ่งขึ้น


กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และดูแลรักษาร่องน้ำและชายหาดของประเทศ ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษา สำรวจและออกแบบ สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชายหาดพัทยาซึ่งที่ผ่านมาได้ประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษาให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ พร้อมทั้งนำข้อคิดเห็นต่างๆมาปรับปรุงรูปแบบโครงการ จนได้แนวทางและรูปแบบการเสริมทราย (Beach Nourishment) ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชายหาดพัทยา ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดทรายที่ใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นแนวทางที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ จึงเป็นที่มาของโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาในครั้งนี้



โครงการก่อสร้างเสริมทรายชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้รับงบประมาณจำนวน 429,054,242.92 บาท กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้าง บริษัท กิจการร่วมค้า มารีน คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยเริ่มปฏิบัติงานก่อสร้างตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยใช้แหล่งทรายจากใต้ท้องทะเลลึกบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากทิศใต้ของเกาะล้านออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นแหล่งทรายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสวยงาม ทั้งนี้ การปฏิบัติงานเสริมทรายจะเป็นไปตามมาตรการสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี เมื่อทำการเสริมทรายชายหาดแล้วเสร็จ จากผลการศึกษาพบว่าทรายจะค่อยๆ ถูกคลื่นลมพัดพาหายไปและต้องนำทรายกลับมาเสริมเติมชายหาดเป็นระยะๆ โดยจากการพิจารณาผลการศึกษาร่วมกับการประเมินจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างจริงหลังแล้วเสร็จคาดการณ์ว่า จะต้องมีการนำทรายกลับมาเสริมเติมชายหาดในทุกๆ 5-10 ปี



ปัจจุบันการฟื้นฟูบูรณะชายหาดพัทยาเสร็จสิ้น ชายหาดพัทยาเหนือจรดใต้จะมีขนาดหาดทรายกว้างอย่างน้อย 35 เมตร โดยมีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อป้องกันพายุหรือคลื่นที่รุนแรงมากกว่าปกติและใช้เป็นแนวเฝ้าระวังเตือนการบำรุงรักษาชายหาดกว้างประมาณ 15 เมตร ทำให้ชายหาดพัทยาในปัจจุบันกลับมาสวยงามและสามารถใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้ดีกว่าเดิม มีหน้าหาดกว้าง สามารถใช้ประโยชน์ในธุรกิจการท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมชายหาดต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน เทศบาลเมืองพัทยา และภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาพบว่า การดำเนินโครงการ ดังกล่าว มีความคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปในการเสริมชายหาดพัทยา จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบประมาณ 37 บาท ผลประโยชน์และความสำเร็จเชิงประจักษ์ของโครงการ แสดงให้เห็นได้ชัดจากการที่โครงการแล้วเสร็จใจช่วงต้นปี 2562 ยอดจองโรงแรมและที่พักในเมืองพัทยาอยู่ในอัตราที่สูงมาก ชายหาดพัทยามีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลสู่อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จากผลความสำเร็จของโครงการดังกล่าว กรมเจ้าท่าจะได้ต่อยอดโครงการในลักษณะเดียวกัน โดยได้ทำการของบประมาณปี 2563 เพื่อก่อสร้างเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ความยาวชายหาดประมาณ 7 กิโลเมตร และจะประยุกต์แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการเสริมทราย ไปยังพื้นที่ชายหาดทรายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะจุดอื่นๆ ต่อไปด้วย เช่น ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ชายหาดเขาหลัก จังหวัดพังงา เป็นต้น



อย่างไรก็ตามในเรื่องการระบายน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่อาจไหลล้นทางเท้าถนน และกระทบต่อทรายชายหาดของโครงการ กรมเจ้าท่าได้ขอความร่วมมือเมืองพัทยา ดำเนินการในระยะสั้น โดยการนำเครื่องจักรที่เมืองพัทยามีความพร้อมมาปรับเกลี่ยหาดทราย ภายหลังจากมีการระบายน้ำฝนลงชายหาด และในระยะยาว โดยการเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบระบายน้ำของเมืองพัทยาเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับงานเสริมทรายฟื้นฟูชายหาดพัทยาอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเมืองพัทยา และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศต่อไป

logoline