svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'ไบโอไทย' โต้ข้อเสนอหนุนพาราควอต 2 ปี ของกระทรวงเกษตรฯ 6 ข้อ

15 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไบโอไทย ชำแหละเอกสารและข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวานนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2562) เอกสารข้อเสนอนี้เป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้คณะกรรมการมีมติไม่แบนพารควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกล้วนยกเลิกการใช้แล้ว

15 ก.พ. 62 - มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ระบุพบ 6 ประเด็นในเอกสารและข้อเสนอ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งถึง คณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังกล่าว


1. อ้างว่าหลังกรมวิชาการเกษตรใช้มาตรการควบคุมพาราควอต พบสถิติการใช้ลดลงในปี 2561 ซึ่งเป็นการบิดเบือน เพราะที่จริงแล้วบริษัทสารพิษได้นำเข้าสารดังกล่าวมากกักตุนเพิ่มขึ้นมหาศาลจากเดิมที่นำเข้า 31,525,596 กิโลกรัมในปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 44,501,340 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้นมากถึง 41.2%) ในปี 2560 หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบน การลดลงของตัวเลขการนำเข้าจึงเป็นตัวเลขหลอกลวงเพื่อโน้มน้าวให้เชื่อว่ามีการลดการใช้ลงแล้วตามมาตรการของกรมฯ


2. อ้างว่าจะมีการอนุญาตให้มีการใช้ในพืช 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่จำกัดการใช้แต่เป็นการขยายการใช้ให้เพิ่มขึ้น เพราะก่อนหน้ามีข้อเสนอแบน กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนการใช้ในพืช 5 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ไม่รวมไม้ผล

3.อ้างว่ายังไม่มีทางออกในการควบคุมศัตรูพืชทดแทนและต้องใช้เวลาอีก 2 ปีในการหาสารและวิธีการทดแทน

3.1 จริงๆแล้วกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบนตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 และมีเวลามากกว่า 2 ปีให้
กระทรวงเกษตรหาทางออกแต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆเลย อ้างเหตุผลต่างๆมายืดเวลาให้มีการใช้ต่อไปอีก 2 ปี รวมเวลาเป็น 4 ปีกว่า

3.2 รายงานของกรมวิชาการเกษตรที่เสนอขัดแย้งกับข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตรเอง เช่น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ยืนยันว่าสามารถมีวิธีการทด
แทนได้ เช่น การใช้เครื่องจักรกลเป็นต้น แต่รายงานชิ้นนี้กลับไม่ถูกกล่าวถึงเลย

4. กระทรวงเกษตรฯอ้างว่ามีข้อมูลจาก "นักวิชาการบางกลุ่ม" ยืนยันว่าถ้ามีการใช้พาราควอตอย่างถูกต้องจะปลอดภัย คำกล่าวอ้างนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะเท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" กระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรมเป็นต้น แล้วกลับไปเชื่อถือ "นักวิชาการบางกลุ่ม" แทน ไบโอไทยพบว่า "นักวิชาการบางกลุ่ม" ที่ว่า มีผลประโยชน์เกี่ยวกข้องกับกลุ่มบริษัทสารพิษ

5. อ้างว่าระหว่าง 2 ปีนี้ จะมีการศึกษาเรื่องผลกระทบโดยให้สวก.เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ทั้งๆที่

5.1 กระทรวงเกษตรฯไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำไมไม่ใช้ข้อมูลของกระทรวง
สาธารณสุขซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

5.2 ประชาชนอาจไม่ทราบว่าผู้อำนวยการสวก. ที่จะรับผิดชอบงานศึกษาดังกล่าว คืออดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนที่แล้ว ซึ่งเป็นผู้อนุมัติต่อทะเบียนพาราควอตให้กับบริษัทซินเจนทา สวนทางกับข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข

6. อ้างว่าจะมีการพิจารณาว่าจะแบนหรือไม่แบนใหม่หลังจากผ่านพ้นไป 2 ปีข้างหน้า ข้อเสนอนี้คือเล่ห์เหลี่ยมของกระทรวงเกษตรฯที่ยื้อการแบนออกไปนั่นเอง หลังจากที่ปล่อยข่าวว่าจะแบนภายใน 3 ปี แต่จะกลายเป็นว่าหลังจากผ่านพ้นไป 2 ปีก็จะไม่หลักประกันใดๆว่าจะแบนสารพิษร้ายแรงนี้

logoline