svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายจ้าง-แรงงาน เฮ! "คสช." ออก ม.44 ยืดเวลา 6 เดือน ผ่อนปรนงดจับและปรับ

04 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิษณุ" แจงที่ออก พรก. ไม่ลักไก่ แค่ต้องการกฎหมายเร่งด่วน ยันโทษปรับไม่หนักเกินไป ย้ำ คสช. มีเจตนาต้านค้ามนุษย์ไม่ลดราวาศอก


เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อผ่อนผัน การใช้ มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า ตนถูกถามตั้งแต่วันแรกว่า ทำไมรัฐบาลลักไก่ออกเป็นพระราชกำหนด ทำไมไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่คำตอบคือ ถ้าออกเป็น พ.ร.บ. ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้เวลาพิจารณานานกว่า 6 เดือน กว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ในขณะที่สถานการณ์ค่อนข้างบีบรัดมากให้ออกกฎหมายในเวลาสั้นๆ ทำให้จัดการอะไรได้หลายอย่าง จึงมีความจำเป็นต้องออกเป็น พรก. ทั้งนี้การที่รัฐบาลไม่ออกเป็นมาตรา 44 เพราะไม่เคยออกอะไรที่เป็นยาวเกิน 5 - 10 มาตรา และกฎหมาย 145 มาตรา คำสั่งตามมาตรา 44 จะใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และใช้ชั่วคราว ในขณะที่ พรก. นั้นจะเป็นกฎหมายระยะยาวและถาวร จึงจะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ดังนั้นทางทางสายกลางจึงต้องเป็นวิธีนี้

ทั้งนี้นายวิษณุกล่าวอีกว่า กรณีแรงงานมีการกำหนดโทษปรับขั้นต่ำขั้นสูง 400,000 - 800,000 บาท แต่จะบอกว่าคนร่างกฎหมายทารุนโหดร้าย ไม่ละเอียดรอบคอบ ผิดมนุษยธรรม นั้นก็ไม่ใช่ เพราะกฎหมายดังกล่าว อยู่ในกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับ แต่จะไปปรับกฎหมายให้มีความจุ๋มจิ๋มกว่าก็ไม่ได้ เพราะต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ขอยืนยันว่าไม่ได้ร่างกฎมายแบบส่งเดช ทั้งนี้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ที่ออกมา มีหลักการดังนี้ 1.ประกาศเจตนารมณ์โดยยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ยังมีนโยบายต่อต้าน ไม่ลดราวาศอกให้กับการค้ามนุษย์ ถ้าปรับ 800,000 แล้วเบาไป อาจจะขึ้นถึง 1 ล้านบาทก็ต้องทำ 2.เรายังคงห่วงเศรษฐกิจ และควมสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และไม่ยอมอะไรให้มาฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้จะมีการผ่อนปรน 4 มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับนายจ้าง และลูกจ้าง สูงสุดถึง 8 แสนบาท จากผ่อนปรนไว้ 120 วัน เปลี่ยนเป็น 180 วัน โดยทั้ง 4 มาตราจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค 61 ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่จับไม่ปรับ และไม่ดำเนินคดี และจะผ่อนปรนในการเดินทางของแรงงานเพื่อกลับไปดำเนินการเรื่องต่างๆ และกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่รีดไถ่ หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิด สามารถร้องเรียนได้ที่รัฐบาล และสูนย์ดำรงธรรม รวมถึงต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ ระหว่างนี้ขอให้กระทรวงแรงงานไปทบทวน พรก. ฉบับดังกล่าวว่าจะเปลี่ยนกำหนดโทษ หรือมาตรการอื่นๆอีกหรือไม่ โดยให้เวลา 4 เดือน และส่งมาให้รัฐบาลพิจารณา ต่อภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหา แรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมาตรา 44 จะออกภายในวันนี้
ขณะที่ พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าจากนี้ไปจะปรับปรุงการอำนวยความสะดวกแก้สถานประกอบการในการติดต่อขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างหรือรับทราบข้อมูล พร้อมกับจะชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทุ่มเทในการทำงานโดยไม่แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน รวมถึงจะเร่งกลับไปทบทวนการออกกฎหมายโดยเร็วด้านนายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าวันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานเป็นที่เรียบร้อย 1.3 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้ได้อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 มี.ค. 61 จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ ต้องดำเนินการให้มีบัตรประจำตัว ให้ทันในวันดังกล่าว ซึ่งเราได้ทำข้อตกลงกับ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยเมียนมา ได้ออกศูนย์พิสูจน์สัญญชาติในไทยถึง 5 ศูนย์ด้วยกัน ซึ่งเรขาได้เริ่มนำเอกสารมาแจกให้ แรงงานของเขา ขณะที่ทางการลาวจะดำเนินการ ตั้งศูนย์พิสูจน์ สัญญชาติในเดือนหน้า ส่วนตัวเลขแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้น ประเมินว่ามีไม่น่าเกิน 1 ล้านคน เพราะทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว 400,000 คน ตนมั่นใจว่าเราจะดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวให้เรียบร้อยภายใน 6 เดือน

logoline