svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หวั่นเกลี้ยงประเทศ! นักอนุรักษ์เตือน"นกแต้วแร้วท้องดำ"สูญพันธุ์!

15 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักอนุรักษ์ห่วง "นกแต้วแร้วท้องดำ" หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน เสี่ยงสูญพันธุ์จากประเทศไทยในปีนี้ หลังกรมอุทยานฯและสมาคมอนุรักษ์นกฯ สแกนพื้นที่ตามหาตัวมาแล้ว 2 ปี แต่ไม่พบ เหตุแหล่งที่อยู่อาศัยโดนทำลายจากการบุกรุกป่าที่ราบต่ำ

หวั่นเกลี้ยงประเทศ! นักอนุรักษ์เตือน"นกแต้วแร้วท้องดำ"สูญพันธุ์!

น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกข่าวร้อน ทางเนชั่นทีวี เมื่อ 14 พ.ค. 58 ว่า การโคลนนิ่งสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมีแนวคิดที่จะทำกันในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เสือทัชมาเนีย ที่เกาะทัชมาเนียร์ กลับมา หรือการทำให้ช้างแมมมอธกลับมา แล้วถ้าเราจะเอาสมันกลับมาบ้างก็ถือเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ส่วนเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย เราจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ ภาคประชาชน ซึ่งก็ถือว่าขยันขันแข็งกันเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นโครงการของประเทศไทยหรือต่างประเทศที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อีกส่วนหนึ่งทางราชการก็ทำเท่าที่จะทำได้แล้ว
สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่านั้น น.สพ.เกษตร มองว่าประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทั้งคน เงิน และสิ่งของ เพียงแต่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ความจริงแค่อนุรักษ์พื้นที่ที่อยู่ตามธรรมชาติเอาไว้ ไม่ให้มีการทำลายธรรมชาติอย่างทุกวันนี้ เหล่าสัตว์ป่าที่มีจำนวนน้อย และกำลังจะหายไปจากธรรมชาติก็จะกลับมาเอง ยกตัวอย่าง เช่น นกแต้วแร้วท้องดำ เป็น 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะพื้นที่ที่อยู่อาศัยในธรรมชาติถูกทำลายแต่ในทางกลับกัน เราก็ดูว่าทำไม สมันมันถึงหายไป ก็เพราะ ที่ราบลุ่มภาคกลางถูกเปลี่ยนไปเป็นนาข้าวและเมืองทั้งหมด จากการศึกษาของกรมที่ดินกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พบว่า ที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่มีป่าหลงเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะฉะนั้นต่อให้เราเอาสมันกลับมาได้ เราก็ไม่สามารถปล่อยมันกลับสู่ธรรมชาติได้ และมันก็จะกลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในกรง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ให้ลูกหลานได้ดูกันเท่านั้น ซึ่งการที่เราจะปล่อยกวางให้ออกไปเดินเล่นตามท้องถนน เหมือนเวลาที่เราไปกัมพูชาแล้วเห็นละมั่งพันธุ์ไทยเดินอยู่ตามท้องนาควบคู่กันกับนกกระเรียนที่บินอยู่ ถ้าเป็นประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อนอาจใช่ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ เพราะกัมพูชา เมื่อ 50 ปี ก่อนเป็นยังไงตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่"เหตุผลของสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ส่วนใหญ่ จะมีความเรื่องมากของสัตว์ คือ 1.ต้องการพื้นที่เฉพาะ ยกตัวอย่าง เช่น สมัน ต้องการพื้นที่ที่มีป่า และ เป็นพื้นที่ราบนาข้าว คือสามารถกินหญ้าได้ กินผลไม้ได้ หลบในป่าโปร่ง ภูเขาไม่ติดกับต้นไม้ เหมือนเคยมีเรื่องเล่าสมัยปู่ทวดของเราว่า ไล่สมันแล้วหนีเข้าไปในป่า พอติดภูเขาก็จนมุม เลยโดนตีจนตาย ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง 2. มันมีความต้องการสืบพันธุ์ต่ำ เฉลี่ย 2 ปี ออกลูกแค่ 1-2 ตัวใน และสัตว์บางชนิดมีความต้องการ เช่น โลกร้อนก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากเราปกป้องพื้นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติและลดการล่าอย่างเป็นรูปธรรม สัตว์ป่าหลายๆชนิดมันก็จะกลับมาเอง" น.สพ.เกษตร กล่าว

หวั่นเกลี้ยงประเทศ! นักอนุรักษ์เตือน"นกแต้วแร้วท้องดำ"สูญพันธุ์!

อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังให้ความเห็นว่า หากพูดถึงสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ในตอนนี้หรือภายในปีนี้น่าจะเป็น นกแต้วแร้วท้องดำ(Gurneys Pitta)อาศัยอยู่ที่ อำเภอ คลองท่อม จังหวัด กระบี่ เป็นนกที่เราค้นพบเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งคนไทยร่วมอนุรักษ์กันอย่างเต็มที่แล้วก็ยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอยู่ดี ทั้งๆที่เรามีทั้งเงิน อำนาจ คน สิ่งของ มีทุกอย่างแต่เราไม่สามารถหาป่าให้มันอยู่ได้ ขาดที่อยู่อาศัยและโดนบุกรุกโดยคน
สำหรับแหล่งที่อยู่ที่มันสามารถอยู่ได้ในประเทศไทยน่าจะมีเหลืออยู่น้อยมาก อาจมีหลบซ่อนอยู่ตามจังหวัดตรัง หรือจังหวัดทางภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทยอยู่บ้าง ซึ่งไม่น่าจะเกินปีนี้น่าจะสูญพันธุ์ เพราะทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและสมาคมอนุรักษ์นกธรรมชาติแห่งประเทศไทย พยายามออกแรงกันอย่างเต็มที่ เป็นเวลา 2 ปี แต่ยังหาไม่พบ โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอ คลองท่อม จังหวัด กระบี่ ให้เป็นบ้านของนกชนิดนี้โดยเฉพาะแล้ว ส่วนในประเทศพม่าถึงแม้จะมีจำนวนประชากรมากกว่าไทย แต่อัตราการตัดป่าเพื่อทำสัมปทานป่าไม้สูงกว่าไทยในสมัยก่อนอยู่หลายร้อยเท่า เพราะฉะนั้นในพม่า ไม่น่าจะเกิน 10 ปี คงสูญพันธุ์
"เพราะฉะนั้นหากคนไทยจะโคลน สมัน ขึ้นมาจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ผมมองว่าเราควรหันมาทำเรื่องฉุกเฉินก่อนจะดีกว่า" น.สพ.เกษตร กล่าวทิ้งท้าย

หวั่นเกลี้ยงประเทศ! นักอนุรักษ์เตือน"นกแต้วแร้วท้องดำ"สูญพันธุ์!

ข้อมูลของเว็บไซต์สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย / www.bcst.or.th ระบุว่า นกแต้วแร้วท้องดำ (Gurneys Pitta) เป็นนกประจำถิ่นของป่าที่ราบต่ำ อาศัยจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็กๆทางใต้ของประเทศไทย และทางใต้ของประเทศพม่า มีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นว่า นกเต้นหัวแพรหรือนกเต้นสี ชื่อวิทยาศาสตร์ Pitta gurneyi เป็นนกขนาดเล็ก รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ขนาดใกล้เคียงกับนกเอี้ยงนกแต้วแร้วท้องดำถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 ที่ประเทศพม่า และมีรายงานการพบเรื่อยมาในช่วงปี พ.ศ.2453-2463 กระทั่งมีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2495 จากนั้นไม่มีรายงานการค้นพบนกแต้วแร้วท้องดำอีกเลยจนทำให้เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว
ต่อมา มีรายงานพบอีกครั้งที่ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำความสูงไม่เกิน 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลที่บริเวณบ้านบางเตียว ใกล้เขานอจู้จี้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2529 โดย ดร.ฟิลิปดี.ราวด์ (Phillip D. Round) และ อุทัย ตรีสุคนธ์ โดยใช้เวลาทั้งหมด 4 ปีในการค้นหา หลังจากได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์ประชากรนกแต้วแล้วท้องดำอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
ในประเทศไทย ป่าอันเป็นที่อยู่อาศัยของนกชนิดนี้ถูกบุกเบิกทำเป็นไร่ปาล์มน้ำมันและสวนยางพารา พื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ดังนั้นประชากรนกแต้วแร้วท้องดำที่ยังหลงเหลืออยู่จึงเป็นกลุ่มประชากรที่เล็กที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน
จากวันที่มีการพบนกแต้วแร้วท้องดำนับร้อยตัว แต่ประชากรนกลดจำนวนลงเช่นเดียวกับผืนป่าดิบชื้นที่ราบต่ำถูกทำลาย จนเมื่อปี 2553 สำรวจพบ 16 ตัว คาดว่าในปัจจุบัน มีประชากรนกแต้วแล้วท้องดำเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น
ล่าสุด เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2558 จากการลงพื้นที่สำรวจถิ่นอาศัยของนกแต้วแร้วท้องคำ โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หลังพบครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว ปรากฎว่า ไม่พบเห็นนกแม้แต่ตัวเดียว อย่างไรก็ตาม คาดว่าการสำรวจประชากรนกที่กินเวลานานหลายเดือน น่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับสถานะนกได้ในที่สุด
สถานะของนกแต้วแร้วท้องดำนั้น ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าที่หายากชนิดหนึ่งใน 12 ชนิดที่หายากของโลก และเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของไทย รวมกับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ,แรด, กระซู่, กูปรี, ควายป่า, ละองหรือละมั่ง, เลียงผา, กวางผา, นกกระเรียนไทย, แมวลายหินอ่อน ,สมัน, สมเสร็จ, เก้งหม้อ และพะยูน

logoline