svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ยิ่งลักษณ์" เบี้ยวนัด ไม่ตอบข้อซักถาม

16 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เดินทางมาตอบข้อซักถามของกรรมาธิการ ในคดีถอดถอน ตามที่นัดหมาย โดยระบุว่าจะให้อดีตรัฐมนตรี เข้าชี้แจงแทน

ทำให้สนช.ต้องปิดห้องประชุมลับหารือปรับแนวทางซักถาม พร้อมยื่นเงื่อนไขขยายเวลาให้อดีตนายกฯเดินทางมาก่อน 18.00 น. แต่ทีมงานอ้างไม่สามารถติดต่อกับอดีตนายกฯได้ การตั้งคำถามเพียงฝ่ายเดียว จึงเกิดขึ้นโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เสร็จสิ้นเนื่องจากผู้ตั้งคำถามที่เป็นเจ้าของญัตติ ต้องการให้อดีตนายกฯเป็นผู้ตอบคำถามไม่ประสงค์จะฟังคำตอบจากผู้แทน และนัดหมายให้มีการแถลงปิดคดี ในวันที่ 22 มกราคม
กมธ.ซักถามตั้งคำถามแบบไม่มีคำตอบ หลังสนช.เจ้าของคำถามยันต้องการถาม ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น อ้างให้ความเป็นธรรมแล้ว เพราะเอาคำถามไปเขียนในสำนวนแถลงปิดคดีได้ นิวัฒน์ธำรง ปัดตอบหลังถูกจี้ถาม ตามอดีตนายกฯ มาตอบเองได้หรือไม่
จากนั้นเวลา 13.50 น. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการซักถามสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างกรรมาธิการซักถามกับเจ้าของญัตติคำถามนั้นเห็นควรว่า ให้ดำเนินการซักถามผู้ถูกกล่าวหาต่อไป โดยประสงค์ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ตอบคำถามเท่านั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงระบุว่า หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าให้กรรมาธิการซักถาม ถามโดยไม่ต้องมีคำตอบจากตัวแทนผู้ถูกกล่าวหา
ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ผู้แทนคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ขอให้บันทึกในที่ประชุมด้วยว่า รายงานการพิจารณาคดีนั้นระบุชัดเจนว่า การนัดหมายผู้เกี่ยวข้องนั้นหมายถึงผู้แทนคดีหรือผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 ระบุว่า การที่มีข้อซักถามแล้วไม่เปิดโอกาสให้ผู้แทนได้ชี้แจงถือเป็นการละเมิดสิทธิ ดังนั้น ขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม นายสมชาย แสวงการ สนช. ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า การถามคำถามนั้นยังถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้ถูกกล่าวหา เพราะสามารถนำไปเขียนในสำนวนในวันแถลงปิดคดีได้ ถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า ผู้แทนคดีที่มาในวันนี้มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ตอบคำถาม มั่นใจว่าพวกเรามีความสามารถ พร้อมที่จะตอบทุกคำถามแม้ว่าจะไม่ทราบคำถามดังกล่าวมาล่วงหน้า และมั่นใจว่าจะสามารถให้ข้อมูลแก่กรรมาธิการซักถามได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้สมาชิกสนช.ได้ใช้ดุลยพินิจด้วย เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะส่วนที่ป.ป.ช เข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ นายพิชิตยังลุกขึ้นกล่าวอีกว่า การชี้แจงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง ตามมาตรา 4 ดังนั้นเราเพียงต้องการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงจะได้รับ ยืนยันว่าเราจะรักษาสิทธิไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกละเมิด และขอให้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย
จากนั้นที่ประชุมสนช.ได้เข้าสู่กระบวนการซักถาม โดยนายสุธรรม พันธุศักดิ์ กรรมาธิการซักถาม ถามว่า ตามที่หน่วยงานต่างๆ มีหนังสือทักท้วงการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวอย่างเป็นทางการ ในตัวเลขความเสียหายของรัฐจากอนุกรรมการปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง 3 ฉบับ วันที่ 9 ต.ค. 2555 เสียหาย 3.2 หมื่นล้านบาทวันที่ 23 พ.ค. 2556 เสียหาย 2.2 แสนล้านบาท และวันที่ 10 ต.ค. 2556 เสียหาย 3.3 หมื่นล้านบาท และจากหนังสือของ ป.ป.ช. 2 ฉบับ หนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 4 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายลงวันที่ 30 ม.ค. 2557 เสนอให้รัฐบาลทบทวนและยุติโครงการแต่รัฐบาลไม่ฟัง ในที่สุดมีตัวเลขยืนยันความเสียหายมากกว่า 5 แสนล้านบาทซึ่งยังไม่ได้รวมกับการลดค่าของราคาข้าวในสต็อกที่เหลือ จากตัวเลขดังกล่าวนั้นจะเป็นภาระของรัฐบาลต่อไป จึงขอถามโดยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเป็นรายข้อย่อยดังนี้ 1.ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ทราบเรื่องในความเสี่ยง ข้อทักท้วง และตัวเลขความเสียหายของโครงการเหล่านั้นหรือไม่ 2.ความเสียหายต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศ แล้วเหตุใดถึงไม่ระงับหรือชะลอ กลับยังปล่อยให้ดำเนินการ และ3.ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างไร
ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า จากคำถามที่ได้ฟังนั้น ยืนยันที่จะขอใช้สิทธิในการตอบคำถาม เพราะเป็นคำถามเชิงปฏิบัติที่ผู้แทนคดีสามารถให้คำตอบได้ ทั้งนี้ การให้พวกตนได้ตอบคำถามนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสนช.และยังเป็นการทำความเข้าใจต่อป.ป.ช.อีกด้วย
นายสุรชัย จึงชี้แจงว่า สนช.ได้หารือในเรื่องนี้ ซึ่งมีความหนักใจ ทั้งนี้ การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำหนังสือมายังประธานสนช.โดยไม่ได้แจ้งเหตุความจำเป็นที่ไม่สามารถมาตอบข้อซักถามได้ เพียงแต่ขอมอบหมายให้ผู้แทนคดีมาตอบคำถามนั้น อย่างน้อยที่สุดในหนังสือที่มาถึงประธานสนช.ก็ควรจะแจ้งว่ามีเหตุความจำเป็นใดขัดข้อง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการที่สนช.จะพิจารณาในแนวทางที่จะอนุญาตให้ผู้แทนคดีตอบคำถามแทนได้ นอกจากนี้ สนช.มีมติไปแล้วว่าเห็นควรมอบหมายให้กรรมาธิการซักถามไปตกลงกับเจ้าของคำถาม เพราะเป็นสิทธิของเจ้าของญัตติ อีกทั้ง ในการแถลงเปิดคดีนั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งว่าใครจะมาตอบคำถามบ้าง จะได้ตั้งคำถามได้ตรงตัวว่าจะถามใครหรือผู้แทนคนใดแทน จึงต้องขอความเห็นใจให้กับสนช.ด้วย อย่างไรก็ตาม หากในวันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบข้อซักถามเองแล้วขออนุญาตให้ผู้แทนคดีตอบคำถามแทนนั้น ยังจะง่ายกว่าในการพิจารณา แต่เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมาจึงเป็นอุปสรรค การถามคำถามนั้นไม่ได้เป็นการกีดกัน สามารถนำไปร่างคำแถลงปิดคดีได้ด้วย
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สนช.มีคำถามจะถามอยู่ 2 แนวทางคือ 1.นายนิวัฒน์ธำรงยังยืนยันที่จะขอตอบข้อซักถามแทนอยู่หรือไม่ และ 2.ขอให้ประสานไปยังน.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อให้มาตอบข้อซักถามเองได้หรือไม่ โดยนายนิวัฒน์ธำรง กล่าวตอบว่า เราพร้อมที่จะตอบแทน แต่ถ้าจะให้ประสานน.ส.ยิ่งลักษณ์ในตอนนี้นั้น ไม่ทราบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน จึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร นายสุรชัยจึงกล่าวว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันนั้น ขอพักการประชุม 10 นาที และขอเชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไปหารือกันที่ข้างห้องประชุม

logoline