svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บวรศักดิ์" นัดติดตามงาน อนุกรอบ รธน.10 ด้าน 1 ธ.ค.

19 พฤศจิกายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐสภา 19 พ.ย. 2557 "บวรศักดิ์" นัดติดตามงาน อนุกรอบ รธน.10 ด้าน 1 ธ.ค. ด้าน "เจษฎ์" เผยกรอบทำงานอนุฯตรากฎหมาย ประสานงานองค์กรอิสระ นำข้อมูลพิจารณา พร้อมแจง "ประยุทธ์" ขอเร่งงาน เพราะตั้งเป้าจัดเลือกตั้งหลังมีรธน.ใหม่แล้ว 6 เดือน

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝากการบ้านให้กับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อประเด็นการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการปฏิรูปประเทศว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดว่าจะหารือกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดแนวทางหรือปรับแนวทางใดๆ หรือไม่ ทั้งนี้ในวันที่ 1 ธ.ค. จะมีการติดตามงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ประเด็น
ทางด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่สำคัญ ว่าในคณะอนุกมธ. ยังอยู่ระหว่างการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
เพื่อพิจารณาถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่การประชุมร่วมกัน 5 ฝ่าย ได้แก่ คสช., คณะรัฐมนตรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นของการเร่งพิจารณาออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องนั้น มาจากข้อสังเกตโดยพล.อ.ประยุทธ์ว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จัดทำแล้วเสร็จ จะมีกรอบเวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อทำกฎหมายลูกที่ใช้เป็นกติกาเพื่อการเลือกตั้ง ดังนั้นขอให้พิจารณาให้เป็นตามกรอบ เพราะหากทำกฎหมายประกอบไม่แล้วเสร็จอาจทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวยืดออกไป        "ดังนั้นแนวทางที่ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ไว้ว่าระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายลูกจะต้องทำงานคู่ขนานกันไป ทั้งนำกฎหมายลูกฉบับเก่ามาพิจารณาปรับปรุง หรือหากมีความจำเป็นที่ต้องยกร่างกฎหมายขึ้นมาก็ต้องเร่งดำเนินการ
โดยการทำความควบคู่ไปนั้นถือว่าจะเกิดผลดี เพราะสามารถนำภาคปฏิบัติมาเขียนกฎหมายที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากเดิมที่ต้องรอรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จก่อนแล้วถึงขั้นตอนทำกฎหมายลูก อย่างไรก็ตามกฎหมายลูกที่จำเป็น คือ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง  ผมมองว่าสามารถนำฉบับเก่ามาพิจารณา และอาจปรับปรุงสาระไม่มากนัก เพราะฉบับเดิมนั้นมีบทบัญญัติที่ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือจะนำบทบัญญัติที่มีมาใช้ให้เกิดความเป็นรูปธรรมอย่างไร" นายเจษฎ์ กล่าว

logoline