svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯ ชู 4 ประเด็นหารืออาเซียน-ยูเอ็น

13 พฤศจิกายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-องค์การสหประชาชาติ ที่เมียนมาร์ หนุนแผนงานเอื้อประโยชน์ต่อความร่วมมือ พร้อมยก 4 ประเด็นหารือ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การสหประชาชาติในอนาคต ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน และ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าสหประชาชาติเป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียน โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งแรก ที่ประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 1996 ไทยยินดีที่สหประชาชาติพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในการนี้ไทยสนับสนุนแผนงานของอาเซียน-สหประชาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหประชาชาติสำหรับอนาคต

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้หยิบยก 4 ประเด็นหลัก มาหารือ ประเด็นแรก ความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียนยังคงประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม และอาเซียนถือได้ว่า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในอันดับต้นๆของโลก โดยเฉพาะการผลิตข้าว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรมยังเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ราคาสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยตลาดที่ไม่แน่นอน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ดังนั้น ไทยจึงต้องการเห็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization - FAO) โดยเฉพาะเพื่อให้ช่วยอาเซียนแก้ไขปัญหารายได้ตกต่ำของภาคการเกษตรในระยะยาว โดยการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน สร้างมาตรการจูงใจทางการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็มีความเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งเราต้องการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำเข้าอาหาร

ประเด็นที่สอง การบรรเทาภัยพิบัติ ไทยชื่มชมบทบาทนำของเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องการเสริมสร้างให้ประเทศต่างๆ มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในทุกรูปแบบ ไทยจึงยินดีที่เห็นแผนงานอาเซียน-สหประชาติระบุการจัดการภัยพิบัติและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยเน้นการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ และการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่สาม การส่งเสริมความเชื่อมโยงของอาเซียน แผนงานความร่วมมืออาเซียน-สหประชาชาติ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างแนวปฎิบัติ ระดับภูมิภาค เรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนและการขนส่ง โดยการบูรณาการระบบการขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอาเชียน ภายใตแผนยุทธศาสตร์การขนส่งอาเซียนปี 2554-2558 ทั้งนี้ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและส่งเสริมรายได้ภาคการเกษตร โดยจะช่วยลดค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร และลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ในช่วงการขนส่งจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค

ประเด็นที่สี่ การแก้ไขผลกระทบทางความมั่นคงจากการสร้างความเชื่อมโยง การขนส่งสินค้า และบุคคล ที่มีความสะดวกยิ่งขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์

ดังนั้น เราจึงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมทั้งการอนุวัติปฎิญญาอาเชียน ว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ของการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฎิบัติอันเป็นเลิศระหว่างรัฐบาลอาเชียนและช่วยป้องกัน ไม่ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายและการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างฐานข้อมูล โดยการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติทุกคนในราชอาณาจักร เพื่อสร้างความมั่นใจ และความโปร่งใสให้กับระบบการจ้างงานของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ในไทย

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่าอาเชียนและสหประชาชาติจะสามารถก้าวไปข้างหน้า สู่ความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันอย่างแท้จรริงและขอฝากให้เลขาธิการอาเซียน และเลขาธิการสหประชาชาติ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อบูรณาการแผนปฎิบัติการสหประชาชาติหลังปี 2558 และวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเชียน หลังปี 2558 เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ต่อประชาชนอาเชียน

logoline