svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

03 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนตำนาน “เขาวงพระจันทร์” จังหวัดลพบุรี ต้องปีนบันได 3,790 ขั้น นมัสการ "รอยพระพุทธบาท" ต้องเตรียมตัวอย่างไร ... ??

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

เริ่มแล้วสำหรับเทศกาลพิชิต “วัดเขาวงพระจันทร์” ประจำปี 2565 ที่เปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาเดินขึ้นบันได 3,790 ขั้น เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้ไม่ได้จัดงานใหญ่โต เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ทางวัดได้มีการเปิดไฟทางขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาแสวงบุญทุกคน สามารถเดินขึ้นเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แต่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์แห่งนี้  เราต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไป รวมถึงวิธีเตรียมตัวอย่างไร เพื่อพิชิตบันได 3,790 ขั้น ซึ่งหากร่างกายไม่พร้อมก็อาจจะเดินขึ้นไปไม่ถึง ดังนั้น เนชั่นออนไลน์จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาฝากกัน

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

สำหรับ “วัดเขาวงพระจันทร์” อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลพบุรี ประมาณ 28 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ตรงหลักกม.ที่ 178 มีทางแยกเลี้ยวขวาอีก 5 กม. ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง บริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ตั้งของวัดเขาวงพระจันทร์ มีทางบันไดไต่ขึ้นไปสู่ยอดเขาประมาณ 3,799 ขั้น

 

ยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ถ้าวัดจากเชิงเขาถึงยอดเขาโดยแนวบันไดจะยาว 1,680 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าไม้ขึ้นสลับซับซ้อนเต็มไปหมด บางแห่งจะเป็นที่ลาด บางแห่งจะเป็นที่ชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาวงพระจันทร์จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา สถานที่นี้เป็นแหล่งสะสมวัตถุโบราณ ของหายากมากมาย และพระพิมพ์ต่างๆ เพราะ “หลวงปู่ฟัก” อดีตเจ้าอาวาสเป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่ท่านจะบวช ซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

 

สำหรับตำนานเขาวงพระจันทร์ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ท้าวกกขนาก ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์  จึงถูกพระรามแผลงศรโดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาปให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนจะให้หนุมานลูกพระพาย (ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนากก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนากได้แต่นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และต่อมาเมื่อนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

 

อีกหนึ่งตำนาน เล่าว่า ขันหมากเจ้ากรุงจีน มีพ่อค้าจีนชื่อ กงจีน หรือ เจ้ากรุงจีน เดินทางมาค้าขายโดยเรือสำเภา พ่อค้าคนนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี และได้มาพบสาวงามชื่อนางนงประจันทร์ เกิดรักใคร่ขึ้น จึงมาสู่ขอกับพ่อของนาง ตอนที่ขบวนเรือขันหมากแล่นมาใกล้เมืองลพบุรี (ต่อมาสถานที่นั้นกลายเป็นคลองชื่อ คลองบางขันหมาก) เมื่อชายหนุ่มที่เป็นคนรักของนางนงประจันทร์ทราบเรื่อง ก็แปลงกายเป็นจรเข้ตัวใหญ่มากไปขวางขบวนเรือ และทำลายเรือขันหมาก ลูกเรือก็กระโดดน้ำหนี (บริเวณตรงนั้นปัจจุบันกลายเป็นภูเขาเตี้ย ๆ ชื่อเขาจีนโจน) มีลูกเรือบางส่วนขึ้นฝั่งได้ก็พากันมามองหาเรือและตามเก็บของที่ลอยน้ำมา (บริเวณนี้กลายเป็นภูเขาชื่อเขาจีนแล)

 

ส่วนเรือสำเภาที่ล่มกลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะเภา ข้าวของที่พ่อค้านำมาเป็นสินสอดมีผ้าแพรที่พับไว้อย่างดีซึ่งจมน้ำ ต่อมากลายเป็นภูเขามีลักษณะเป็นชั้น ๆ ชื่อเขาพับผ้า หรือเขาหนีบ ส่วนแก้วแหวนเงินทองงมาจมลงที่เดียวกันกลายเป็นภูเขาชื่อเขาแก้ว มีตะกร้าที่นำมาด้วยจมอยู่กลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะกร้า และมีพวกขนมที่นำมารวมกองกันอยู่กลายเป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายขนมเข่งขึ้นรา ชื่อเขาขนมบูด ส่วนนางนงประจันทร์ระหว่างรอขบวนขันหมากและเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดตกใจตกลงไปในน้ำ นางจึงจมน้ำตายและกลายเป็นภูเขาชื่อเขานงประจันทร์ หรือเขานางพระจันทร์ (ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็นเขาวงพระจันทร์ แต่เรื่องนี้เป็นคนละตำนานกับตำนานเขาวงพระจันทร์)

 

สำหรับจรเข้หนุ่มเมื่อล่มเรือขันหมากแล้วเห็นคนรักตกน้ำพยายามจะว่ายไปช่วยแต่หมดแรงก่อนจึงจมน้ำตายกลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะเข้ หรือเขาจรเข้

 

 

สำหรับ "เขาวงพระจันทร์" มีสิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง ประกอบด้วย

 

  • รอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4)
  • รอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้
  • หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสะวิรัติตลอดชีวิต,ไม่สรงน้ำ(อาบน้ำ)ตลอดชีวิต
  • พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองจำนวนมาก
  • พิพิธภัณฑ์ พ้นล้าน
  • บันไดขึ้นเขา 3,799 ขั้น
  • ต้นปลัดขิก ธรรมชาติ
  • ควาย 3 เขา แห่งเดียวในโลก
  • งาช้างสีดำ แห่งเดียวในโลก

 

งานประเพณีที่สำคัญของวัด

 

เทศกาลขึ้นเขาวงพระจันทร์ จัดขึ้นประมาณเดือนสามช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งใกล้ และไกลจะหลั่งไหลกันมานมัสการรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปบนยอดเขาแห่งนี้อย่างเนืองแน่นเป็นประจำตลอดช่วงเทศกาล สิ่งก่อสร้างและรูปแบบของการแสดงความเคารพที่วัดแห่งนี้จึงมีอิทธิพลจีนนิกายฝ่ายมหายานอยู่มาก

 

เขาวงพระจันทร์ได้ชื่อว่าเป็นเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดลพบุรี และเป็นภูเขาที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จักเมืองลพบุรีมาช้านาน

 

 

การเตรียมตัวขึ้นเขา

 

  • ช่วงเทศกาล 1 – 15 กุมภาพันธ์ สามารถเดินขึ้นได้ทั้งวันทั้งคืน 24 ชั่วโมง
  • ส่วนช่วงเวลาปกติจะเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. หากเดินทางมาช่วงกลางคืนต้องมีไฟฉายเฉพาะ
  • เวลาขึ้นเขาที่แนะนำ ช่วงเช้าเวลา 05.00 น. ถึง 09.00 น. ส่วนช่วงเย็นเวลา 16.00 น. ถึง 19.00 น.
  • โปรดนำอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับขึ้นเขา และยาประจำตัว เช่น ยาดม ยาลม ยาหม่อง และของจำเป็นอื่น ๆ ติดตัวมาด้วย

 

 

หากต้องการติดต่อสำนักงานเลขานุการ

วัดเขาวงพระจันทร์ โทร 061-070-7161

 

logoline