22 เมษายน 2567 จากกรณีที่มีหนังสือของ "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้มีคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่งถึง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ในการพิจารณาเกี่ยวกับคดีเว็บพนันออนไลน์
ล่าสุด "นายนิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ได้รับหนังสือมาสัปดาห์ที่แล้ว คงต้องตรวจสองข้อเท็จจริงว่าร้องคัดค้านในเรื่องใดบ้าง และก็คงต้องขอไปดูข้อกฎหมายก่อน เพราะเหตุคัดค้านเวลามีเรื่องกัน ก็คงต้องไปดูเรื่องส่วนได้เสีย มีสาเหตุโกรธเคืองกันหรือสาเหตุใดก็ตาม ก็มักจะเป็นเหตุคัดค้านตามข้อกฎหมาย
ส่วนหลังจากมีการคัดค้านจะต้องสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่ถูกคัดค้านก่อนหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าคงต้องรับฟังเหตุผล เพราะนี่เป็นแค่คำร้อง ต้องดูคำร้องระบุอย่างไร
สำหรับหลายสำนวนคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่อยู่ในชั้น ป.ป.ช.นั้น คงต้องดูข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อน เวลาเมื่อมีการไต่สวน มีการร้องคัดค้านเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ บางครั้งคำคัดค้านก็ฟังไม่ขึ้น ส่วนจะใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูว่าคำร้องที่ส่งมา มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอะไรบ้าง ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะโอกาสที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกคัดค้านก็มีเยอะ
ส่วนจะต้องกลับไปดูถึงกระบวนการสรรหาหรือไม่นั้น คงไม่ใช่หน้าที่ ของ ป.ป.ช. คงต้องไปอยู่กับคนที่สรรหามา เพราะ ป.ป.ช.รับผิดชอบเฉพาะกรณีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการกล่าวหาคณะกรรมการ ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. เพราะเป็นองค์อิสระอื่นที่จะต้องพิจารณา
ทั้งนี้ จะต้องเรียกสองบุคคลที่ถูกอ้างอิงในท้ายคำร้องมาสอบถามหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ส่วนที่มีชื่อของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในเอกสารด้วยนั้น ต้องไปดูว่า พล.อ.ประวิตร เป็นพยานในเรื่องอะไร ซึ่งก็เป็นแนวทางยืนยันว่ายังไม่มีข้อยุติ
"ตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีมีการไต่สวน คงต้องพิจารณาว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหามากี่เรื่อง หากได้รับผลกระทบอีกหลายคดี จะต้องไปดูในทุกๆ เรื่อง ซึ่งหลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการกรรม ป.ป.ช. รายดังกล่าว" นายนิวัติไชย ระบุ
ส่วนจะมีการส่งเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่นั้น ต้องดูข้อพิจารณาก่อนว่า ป.ป.ช. มีอำนาจส่งเรื่องให้กับประธานสภา หรือไม่ พร้อมย้ำว่ากระบวนการสรรหา เป็นเรื่องที่ทางสภา จะต้องไปตรวจสอบกันเองว่าสรรหามาอย่างไร
เมื่อถามว่า มองเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องคำร้องเรียนต้องดูที่ข้อเท็จจริง ตนถึงบอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถูกกล่าวหาได้โดยง่าย
"วันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำอะไรปุ๊บ ก็ถูกอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน ผมถึงบอกว่ามันมีประจำอยู่แล้ว วันหนึ่งในการประชุมก็มีเรื่องการคัดค้านเข้ามาเยอะ ส่วนการคัดค้านเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบ เพราะเป็นคำร้องเท่านั้นเอง ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย" เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าว
เมื่อถามว่า จะเป็นการถ่วงเวลาในการพิจารณาคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง แต่ปัจจุบันเรื่องของการตรวจสอบก็ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังอยู่ในระดับชั้นของเจ้าหน้าที่ ถือว่ายังไม่กระทบ และยังไม่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กระแสข่าวว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะเดินทางมาในวันนี้ (22เม.ย.) ก็ยังไม่ได้รับการประสานมา
ส่วนเอกสารหลุดออกมาได้อย่างไรนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ถามกลับว่า "ตัวเขาเอาไปให้ผู้สื่อข่าวเองหรือเปล่า ไม่ใช่ ป.ป.ช. แน่ๆ ผมไม่รู้นะอันนี้"
ส่วนกรณีคณะพนักงานสอบสวน ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ทำคดีเว็บพนัน BNK Master ได้ส่งสำนวนคดี ที่มีการกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อีกสำนวนมาให้ ป.ป.ช. พิจารณา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.นั้น โดย เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เพิ่งยื่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มันยังคงไม่เร็วถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องไปไล่ดู ว่าอีกสำนวนหนึ่งหรือไม่ เพราะการกระทำมีหลายกรรม ต้องไปดูว่าเรื่องนี้เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับเรื่องความผิดต่อหน้าที่หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องทุจริตหรือไม่ หรือมีประเด็นเรื่องการเรียกรับเงินหรือไม่ จึงต้องขอเวลาพิจารณาก่อน
ส่วนรายละเอียดในสำนวนมีข้อหาเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้นจะต้องรับไว้ดำเนินการเองหรือส่งสำนวนกลับไปให้ตำรวจดำเนินการนั้น ก็คงต้องดูอีกทีหนึ่ง และขอดูก่อนว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่
ขณะที่ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า กรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ขอให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องของกรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับตนเองไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ว่า ตามประมวลจริยธรรม และการตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. หากกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดเอง ผู้ร้อง สามารถร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรงด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบได้ทุกองค์กร ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า องค์กรใดตรวจสอบอย่างไร แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอื่น ดังนั้น กฎหมายจึงระบุไว้ว่า เมื่อมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ก็ให้ร้องโดยตรงไปถึงศาลฎีกาฯ ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ซึ่งในกระบวนการในการพิจารณา เมื่อเรื่องร้องเรียนแล้ว สำนักงานศาลฎีกา จะตรวจสอบว่าคำร้องดังกล่าว มีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯ รับไว้พิจารณา ก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป
ส่วนกระบวนการของรัฐสภา จะมีการตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าวย้อนหลังด้วยหรือไม่ เนื่องจากในเอกสารของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการอ้างถึงการวิ่งเต้นของกรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการคัดสรรด้วยนั้น ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ยังไม่มีการตรวจสอบ แต่ในกระบวนการสรรหากกรรมการ ป.ป.ช. มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว และเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้น ก็ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยอีกขั้นตอนหนึ่ง