svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

Long COVID ทำนอนไม่หลับ ซ้ำความจำถดถอย

29 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

งานวิจัยใหม่พบกลุ่มผู้มีภาวะ Long COVID กระทบปัญหาด้านการนอนหลับถึง 1 ใน 4 ทั้งนอนไม่หลับและนอนหลับมากผิดปกติ ซ้ำร้ายกว่าครึ่งมีปัญหาความจำและความคิดที่แย่ลง

ตั้งการ์ดไว้อย่าให้ตก เพราะจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้โควิด-19 กำลังกลับมาระบาดอีกครั้ง แม้หลายคนจะได้รับวัคซีนแล้วแต่ก็มีโอกาสติดซ้ำได้ โดยอาการและอาการแสดงของโรคโควิด-19 คล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว และอาจมีบางอาการที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ เช่น การไม่ได้กลิ่น หรือปัญหาการรับรส 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อสามารถมีอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายจากโรคแล้วได้ด้วย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านั้นเรียกว่า ภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือลองโควิด (Long COVID) ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

Long COVID ทำนอนไม่หลับ ซ้ำความจำถดถอย

นิยามของกลุ่มอาการ Post – COVID 19 Condition หรือ Long COVID คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย โดยมีอาการและอาการแสดงในแต่ละระบบที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • ระบบทางเดินหายใจ – อาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด – อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
  • ระบบทางเดินอาหาร – ปวดท้อง ท้องเสีย ลดความอยากอาหาร
  • อาการอื่นๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อระบบใดๆ –  ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
  • ความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจเลือดโดยไม่มีอาการ – เช่น ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นผิดปกติ ค่าการกรองและการทำงานของไตลดลง ค่าการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ เป็นต้น

Long COVID ทำนอนไม่หลับ ซ้ำความจำถดถอย

ล่าสุด มีการศึกษาครั้งใหม่ที่สำรวจจากกลุ่มผู้ร่วมทดสอบ พบว่าผู้ที่มีภาวะ Long Covid มีปัญหาด้านการนอนมากถึง 1 ใน 4 ทั้งนอนไม่หลับ และนอนหลับมากผิดปกติ และกว่าครึ่งมีปัญหาความจำและความคิดแย่ลง แบ่งเป็น

  • 22.2% ของกลุ่มผู้ทดสอบ เกิดอาการนอนไม่หลับ
  • 3.1% ของกลุ่มผู้ทดสอบ มีปัญหานอนมากกว่าปกติ
  • 53.4% ของกลุ่มผู้ทดสอบ มีปัญหาด้านความคิดความจำที่แย่ลง

รายงานข้างต้นเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาข้างต้น หัวหน้าวิจัยอย่าง Moura AEF และทีมวิจัยจากบราซิล ได้ทำการวิจัยแบบติดตามประเมินกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และประสบภาวะ Long COVID จำนวน 189 คน จนได้ข้อมูลผลสำรวจชิ้นนี้ออกมา

ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่พบในปัจจุบัน นั่นคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาทั้งเรื่อง "นอนไม่หลับ" รวมถึงปัญหาด้านความคิดความจำ ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนได้

ใครบ้างเสี่ยง Long COVID

ภาวะ Long COVID นั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก อีกทั้งผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และเพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย โดยอาการผิดปกติจากภาวะ Long COVID นั้น เกิดขึ้นได้ทุกระบบในร่างกาย และส่งผลให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาวได้

ภาะวะเครียดท่วมท้นเพราะ Long COVID

จากงานวิจัยจาก NYU Grossman School of Medicine ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the Neurological Sciences (JNS) ระบุถึงผลกระทบของ Long COVID ที่ส่งผลต่อการนอนหลับที่แย่ลงเช่นกัน โดยนักวิจัยพบว่า 50% ของผู้ป่วยกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มี “ความเครียดในชีวิตอยู่แล้ว” หลังจากติดโควิดและมีอาการลองโควิด จะมีแนวโน้มอย่างน้อย 2 เท่าที่จะเกิด ภาวะซึมเศร้า โรคสมองฝ่อ ความเหนื่อยล้า ปัญหาการนอนหลับ และอาการอื่นๆ ในระยะยาว

จากการติดตามผลกับผู้ป่วยโควิด 790 ราย หลังหายจากโควิดในระยะเวลา 6 เดือนและ 12 เดือน (1 ปี) พบว่าผู้เข้าร่วมทดสอบรายงานว่า พวกเขามีความเครียดในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญหลังต้องเผชิญภาวะ Long COVID ในระยะเวลา 12 เดือน โดยปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเกิดความเครียดและกังวลมากขึ้น ได้แก่ ตกงาน, ความไม่มั่นคงทางการเงิน, ปัญหาปากท้อง, การเสียชีวิตของผู้สัมผัสใกล้ชิด, ความพิการที่เกิดขึ้นใหม่ (อาการรุนแรงจากการป่วยโควิดจนระบบร่างกายเสียหาย)

Long COVID ทำนอนไม่หลับ ซ้ำความจำถดถอย

ศาสตราจารย์ Jennifer A. Frontera หัวหน้าวิจัยจากภาควิชาประสาทวิทยา NYU Langone Health กล่าวว่า “การรักษาลองโควิด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเชิงบำบัดที่ช่วยลดความบอบช้ำจากเหตุการณ์ในชีวิตที่ก่อให้เกิดความเครียด แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแนวทางให้ที่ดีที่สุด”

นอกจากนี้ ในการศึกษาซ้ำครั้งที่สอง ทีมนักวิจัยพบว่าผู้ที่มีภาวะ Long COVID มีอาการของกลุ่มโรคที่ระบุใหม่ 3 กลุ่มคือ

  • กลุ่มที่ 1: มีอาการเล็กน้อย (ส่วนใหญ่ปวดศีรษะ) เข้ารับการรักษาเพียงเล็กน้อยก็หาย
  • กลุ่มที่ 2: อาการหลายอย่าง เช่น วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้าและจิตบำบัด
  • กลุ่มที่ 3: อาการทางปอดเป็นหลัก เช่น หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม ปวดศีรษะ ความคิดความจำแย่ลง ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาบำบัดทางกายภาพ

จากการวิเคราะห์พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ กลุ่มอาการที่ 2 ซึ่งมีอัตราความพิการสูงขึ้น มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า เหนื่อยล้า และการนอนหลับแย่ลง โดย 97% ของผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าวเมื่อได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทางจิตเวชรายงานว่าพวกเขาอาการดีขึ้นจริง ดังนั้น วิธีหลีกเลี่ยงภาวะLong COVID ที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อโควิดหรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ อีกทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง การเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของภาวะลองโควิดได้

LONG COVID กับอาการทางระบบประสาท

อีกหนึ่งในกลุ่มอาการ Long COVID ที่พบได้บ่อย คืออาการในส่วนของระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) ภาวะสับสน (Delirium) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Dysfunction) ภาวะเครียดภายหลังภยันตรายหรือพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) อาการซึมเศร้า กลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำ และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) เป็นต้น

ส่วนการมีโรคประจำตัวทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Long COVID แต่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว หากมีการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบและทำให้อาการของตัวโรคแย่ลงเร็วกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อมูลพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือทำให้อาการโรคเดิมแย่ลงได้มากกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดอื่น

โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง) โรคสมองเสื่อม และโรคทางจิตเวช (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล) มากกว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากขึ้น หากมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ(Intensive Care Unit, ICU) หรือมีภาวะสับสน (Delirium) ขณะรักษาในโรงพยาบาล

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทมาก่อนหรือไม่ การติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทั้งหมด หากไม่มีโรคประจำตัวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ หลังการติดเชื้อ แต่หากมีโรคประจำตัวมาก่อน การติดเชื้อจะทำให้การดำเนินโรคนั้นแย่ลงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ในภาวะ Long COVID ตามมาด้วยเช่นกัน และถึงแม้ว่าการมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่าประชากรโดยทั่วไป แต่การที่โรคประจำตัวแย่ลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นย่อมส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

logoline