svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ชวนพ่อแม่เช็กพฤติกรรมลูก ก่อนเข้าข่ายโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

22 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช็กพฤติกรรมลูกก่อนสายว่าเข้าข่าย “โรคซึมเศร้า” หรือไม่? พร้อมวิธีการรับมือ และคำแนะนำการดูแลสภาพจิตใจให้แข็งแรง ก่อนโรคไม่พึงประสงค์จะพรากความสดใสไปจากลูกรัก

จากกรณีข่าวเศร้าเด็กชายกลุ่ม LGBTQ วัย 14 ปี คิดสั้นผูกคอปลิดชีพตัวเองภายในบ้านพักหลังเลิกเรียน พร้อมเขียนจดหมายลาปู่กับย่าฝากให้ช่วยดูแลน้องสาวอีกคน หลายคนมุ่งประเด็นไปยังปมปัญหาการถูกบูลลี่ แต่ก็ยังไม่ตัดประเด็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องด่วนที่พ่อแม่ต้องหันมาให้ความสำคัญและสนใจลูกๆ มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวซ้ำรอยกับคนใกล้ตัว

ชวนพ่อแม่เช็กพฤติกรรมลูก ก่อนเข้าข่ายโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

โรคซึมเศร้าในเด็ก

พ่อแม่หลายคนมักจะกังวลว่าเมื่อลูกเราโตขึ้นจนกระทั่งเริ่มเข้าสู่วัยเรียนอาจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคม การใช้ชีวิตของลูกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งลูกๆ อาจพบความเครียดจนกระทั่งความเครียดสะสม มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด ก็ทำให้พ่อแม่กังวลใจไม่น้อย ซึ่งโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุรวมทั้งในเด็กด้วย โดยอาการของโรคซึมเศร้าในเด็กจะมีลักษณะหลากหลายและแสดงออกต่างกัน คล้ายกับในผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า มักจะมีปัญหาในด้านการเรียนร่วมด้วย 

ลูกแค่ "เศร้า" หรือเข้าข่ายเป็น "โรคซึมเศร้า"

โรคซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างถูกวิธี

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก

  • ทางชีวภาพ เกิดจากพันธุกรรม ถ้ามีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มากกว่าเด็กทั่วไป
  • สาเหตุจากยาบางชนิดสามารถทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาลดความดัน สารเสพติด เป็นต้น
  • สาเหตุจากโรคบางชนิด เช่นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ประกอบไปด้วย ความเครียด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในครอบครัว  การทะเลาะกับแฟน ผลการเรียนตกต่ำ การคบเพื่อน ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอ ๆ หรือรู้สึกไม่ชอบ กลัว กังวล กับบุคคลรอบข้าง หรือ เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง กลัวการแข่งขัน

3 กลุ่มความผิดปกติที่ส่อแววโรคซึมเศร้า

ความผิดปกติทางอารมณ์​ ได้แก่ รู้สึกไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน หมดสนุก หดหู่ เศร้าหมอง เบื่อหน่าย ท้อแท้ชีวิต หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนไหวต่อคำพูด

ความผิดปกติทางความคิด เช่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำแย่ลง มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีสิ่งดีๆในตนเอง ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองผิด (อย่างไม่สมเหตุสมผล) รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า คิดอยากทำร้ายตนเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

ความผิดปกติทางอาการทางกาย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เคลื่อนไหวเชื่องช้า ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ หลับยาก หลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นกลางดึก (นอนต่อไม่หลับ) และไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ ขาดความกระตือรือร้น

ชวนพ่อแม่เช็กพฤติกรรมลูก ก่อนเข้าข่ายโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ชวนพ่อแม่เช็กสัญญาณอาการของโรคซึมเศร้าของลูกก่อนสายเกินแก้

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ปกครองอาจสังเกตบุตรหลานของตนว่าเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ได้จากสัญญาณอาการดังต่อไปนี้

  1. เด็กรู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังเป็นเวลานาน
  2. มีอาการหงุดหงิดหรือไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา
  3. เลิกสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยชื่นชอบ
  4. ทำกิจกรรมที่บ้าน กิจกรรมกับเพื่อน กิจกรรมที่โรงเรียน รวมถึงงานอดิเรกได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  5. รู้สึกอ่อนล้าหรือเหนื่อยตลอดเวลา
  6. มีปัญหาในการนอนหลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ
  7. ขาดสมาธิในการจดจ่อ และมีปัญหาที่โรงเรียน
  8. มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวลดน้อยลง
  9. มีความลังเลและขาดความมั่นใจในตัวเอง
  10. เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากผิดปกติ
  11. มีอาการป่วยอย่างปวดท้องหรือปวดศีรษะที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  12. มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
  13. วิตกกังวล รู้สึกไม่ผ่อนคลาย หรือง่วงซึมมากกว่าปกติ
  14. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือมีความรู้สึกผิด
  15. รู้สึกว่างเปล่า หรือไร้ความรู้สึก
  16. ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์
  17. มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
  18. ทำร้ายร่างกายตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างกรีดตามผิวหนังหรือใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด

 

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า

1.พ่อแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูก สังเกตพฤติกรรม สอบถามอาการสารทุกข์สุกดิบ ถามถึงความสุขของลูก  เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่ลูกจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า

2.การทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไปทำกิจกรรมใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ๆ เพื่อให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้แย่ลงไปกว่าเดิม

3.พูดคุยกับลูกโดยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่นแก่ลูกอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด

4.คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก และเปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

ข้อมูลอ้างอิง : pobpad / พญ.กมลวิสาข์  เตชะพูลผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก  โรงพยาบาลพญาไท 2

logoline