svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ทบทวนความทรงจำ "วันมาฆบูชา" สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนอย่างไร

23 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันสำคัญอย่าง "วันมาฆบูชา" ใกล้จะมาถึง หลายคนเตรียมตัวไปทำบุญไหว้พระ และวันนี้เราขอพาทุกท่านไปย้อนความทรงจำรื้อฟื้นความรู้วิชาพระพุทธศาสนากันเสียหน่อย

"วันมาฆบูชา" มีความสำคัญที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก นั่นก็คือ เป็นวันที่มีพระภิกษุจำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย คำว่า "มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" มีความหมายว่า การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 และการกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม

ทบทวนความทรงจำ วันมาฆบูชา สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนอย่างไร ทบทวนความทรงจำ วันมาฆบูชา สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนอย่างไร

 

ความสำคัญของวันมาฆบูชา 

ความสำคัญของวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน โดยเนื้อหาของคำสอนสรุปได้ใจความว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

วันมาฆบูชา กับเหตุอัศจรรย์ 4 ประการ  

  1. ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
  4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"


           ทบทวนความทรงจำ วันมาฆบูชา สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนอย่างไร
 

พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรในวันมาฆบูชา

โดยทั่วไปชาวพุทธเราจะตื่นแต่เช้า เพื่อทำบุญตักบาตร หรือถวายเพล และฟังธรรมเทศนา อีกทั้งควรตั้งมั่นอยู่ในความดี มีหลักธรรมที่ควรน้อมนำไปปฏิบัติ คือ "โอวาทปาติโมกข์" หลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น ประกอบไปด้วย

  • การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิกทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดโกหก การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
  • การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
  • การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

จะเห็นได้ว่าหลักคำสอน ถ้ามองให้ลึกซึ้งนั่นก็คือการ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"  

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติเมื่อถึงวันมาฆบูชา ในช่วงเย็นจะมีกิจกรรมเวียนเทียน โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา 3 รอบ ในระหว่างที่เดินเวียนเทียนอยู่นั้นควรตั้งจิตให้มั่น ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

บทสวดมนต์เวียนเทียน

รอบที่ 1 (ระลึกถึงพระพุทธ)

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

รอบที่ 2 (ระลึกถึงพระธรรม)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

รอบที่ 3 (ระลึกถึงพระสงฆ์)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

ทบทวนความทรงจำ วันมาฆบูชา สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนอย่างไร

 

ขอขอบคุณ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

logoline