svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

"มาดามเดียร์" คุย BWILD ISAN - PACHAREE หวังแมชแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก

19 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"มาดามเดียร์" คุย "BWILD ISAN" และ "PACHAREE" หวังดันแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก ชี้ไทยมีแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีพรสวรรค์แต่ขาดการสนับสนุน พร้อมชูกองทุนไอเดีย เติมโอกาสดีไซเนอร์ไทย

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พบ "กาญจนา ชนาเทพาพร" ผู้ก่อตั้ง BWILD ISAN แบรนด์แฟชั่นท้องถิ่นอีสาน ผู้สร้างกระเป๋าไก่ และ "ปาจรีย์ ซูเมอร์ส-โรเจอร์" เจ้าของแบรนด์จิวเวลรี่ไทยที่ได้วางขายในห้างดังระดับโลก

"มาดามเดียร์" คุย BWILD ISAN - PACHAREE หวังแมชแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก

น.ส.ปาจรีย์ กล่าวว่า เริ่มต้นจากการเป็นผู้บริโภค ที่ไม่ได้จบด้านดีไซน์มา แต่เน้นความใส่ใจ ในรายละเอียด และ รสนิยมในการเลือกวัตถุดิบ เธอเริ่มต้นจากการออกแบบเสื้อผ้า เพื่อถ่ายแบบแฟชั่น เธอจึงเอาพลอยและมุกของแม่ทำมาเครื่องประกับเติมเข้าไปด้วย แต่เมื่อโพสต์รูปไปในอินสตาแกรมแล้ว กลับไปถูกใจผู้ซื้อที่นิวยอร์ก และ นำมาสู่โอกาสในการเอาจิวเวลรี่ไปขายในห้างดังในต่างประเทศ และมีอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ เซเลบริตี้นำเครื่องประดับของแบรนด์ไปใส่

ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Pacharee

เป็นจังหวะที่ดีที่คนส่วนใหญ่เริ่มเบื่อมุกแบบกลม และ หันมาสนใจมุกแบบแท่งซึ่งแบรนด์ของเธอเป็นไม่กี่เจ้าที่ขายพอดี จึงทำให้ได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จ เธอก็พัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่ถูกใจของลูกค้ามาเรื่อยๆ และการไปหาบายเยอร์มันไม่ต้องมีพิธีรีตอง แต่มันอยู่ที่การเล่าเรื่องและสินค้าต้องตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้เขารู้สึกว่ามันเท่และเจ๋ง
 

“เรานำเสนอสิ่งที่แปลกใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง” น.ส.ปาจรีย์ กล่าว

 

ขณะที่ นางกาญจนา เล่าว่า เธอมีความมุ่งมั่นกับการสร้างแบรนด์ที่มีคนเป็นหัวใจหลัก เราใช้สิ่งธรรมดาภูมิปัญญาวัฒนธรรมอีสานมาสร้างสรรค์เป็นแฟชั่น จน "กระเป๋าไก่บ้าน" กลายเป็นไวรัล เธอเล่าว่าแบรนด์ของเธอ นอกจากจะสร้างสรรค์ผลงานจากความเป็นท้องถิ่นไปสู่สายตาของคนทั่วโลกแล้ว ยังตั้งใจที่จะให้โอกาส ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ให้ได้แสดงฝีมือการออกแบบ และ มีโอกาสทำผลงานสู่ตลาดด้วย  

ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก BWILD ISAN

แต่ปัญหาคือการเริ่มต้นแบรนด์แฟชั่นในช่วงสถานการณ์โควิด การต้องลงทุนเพื่อรักษาคนไว้ และทดลองผลิตสินค้า โดยที่โอกาสเข้าถึงเงินทุนก็ยากมาก ความหวังที่จะให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้ทำงานอยู่ที่บ้านเกิด นอกจากจะให้เงื่อนไขที่พวกเขาสามารถทำตามความฝันของตัวเองด้วย และรวมทีมเพื่อสร้างงานร่วมกัน เพื่อจะเป็นธุรกิจที่เกื้อกูลคนในชุมชนจริงๆ โดยไม่ได้มีการส่งเสริมจากภาครัฐทั่วถึงและตรงจุดกับที่ดีไซเนอร์ต้องการ

 

“ความเป็นอีสานมันไม่ใช่แค่จุดขาย แต่มันคือตัวเรา คือครอบครัว มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี เรามีความฝัน แต่โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจริงจังมันน้อยมากจนแทบมองไม่เห็น” นางกาญจนา กล่าว

 

น.ส.วทันยา กล่าวว่า เธอมองเห็นโอกาสของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย เรามีแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีพรสวรรค์ เรามีทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรมที่มั่งคั่ง แต่เราขาดนโยบายจากภาครัฐที่ส่งเสริมอย่างตรงจุด กองทุนไอเดียของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นการสร้างพลังให้ผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ต้นทางน้ำจนถึงปลาน้ำ
 

"มาดามเดียร์" คุย BWILD ISAN - PACHAREE หวังแมชแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก

เริ่มจากการเปิดหลักสูตรบ่มเพาะให้ความรู้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มีทุนให้เริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ พร้อมทั้งจับคู่ผู้ผลิตกับวัตถุดิบ และจัดหาตลาดให้แบรนด์ต่างๆ ในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดความคิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี

“คนไทยมีพรสวรรค์ มีความคิดสร้างสรรค์ และประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่เรายังจาดโอกาสจากรัฐ เดียร์จะสร้างโอกาสที่ทุกคนเท่ากัน เพื่อให้คนไทยกินดีอยู่ดี” น.ส.วทันยา กล่าว

"มาดามเดียร์" คุย BWILD ISAN - PACHAREE หวังแมชแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก

logoline