svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาหาร

คนไทยเจ็บป่วยอื้อ...เหตุเพราะกินเค็มหนักมาก

13 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือข่ายลดบริโภคเค็มจัดเสวนาออนไลน์รณรงค์ลดเค็ม พบผลการกินเค็มก่อให้เกิดโรค ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคไต ด้านหมอระบบประสาท-โรคหัวใจ เห็นพ้องหนุนภาคอุตสาหกรรม ปรับสูตรลดเค็ม ชี้เทรนด์รักสุขภาพมาแล้ว แต่ยังไม่เป็นกระแสฮิต

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และ สสส. จัดเสวนาออนไลน์รณรงค์ลดการบริโภคเค็ม ในหัวข้อ "กินเค็มกระทบสุขภาพอย่างไร” โดยมีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคภัยที่มาพร้อมกับการบริโภคเค็มเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้

 

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการบริโภคเกลือของคนไทย หรือมีการศึกษาประเมินความสูญเสียจากการเจ็บป่วยจากการบริโภคเกลือ แต่เครือข่ายลดเค็ม ลดโรคมีการศึกษา พบว่า คนไทยมีการบริโภคเกินระดับที่เหมาะสม  

 

ขณะที่มีการศึกษาภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD) ปี 2017 พบกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเกลือสูงสุด ได้แก่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีไทยอยู่ด้วยนั้น มีการบริโภคเกลือสูงกว่าระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ถึงกับเกินระดับที่สูง

"การกินเค็มจนนำไปสู่โรค ทั้งกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภาระการรักษาพยาบาลที่สำคัญของประเทศไทย รวมถึงโรคไต ซึ่งโรคเหล่านี้หลังจากเป็นแล้ว นำสู่ความพิการ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และเป็นภาระหนักของครอบครัว อนาคตประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับภาวะคนไทยไม่มีลูกหลานดูแลด้วย

 

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ

 

มาตรการลดการบริโภคเกลือ พบว่า การรณรงค์ได้ผลแค่ 2% ขณะที่การติดฉลากผลิตภัณฑ์ก็ลดได้ 2% แต่หากมีการบังคับการลดเกลือในอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า สามารถลดการบริโภคเกลือได้ถึง 20% ฉะนั้นการรณรงค์ด้วยการให้ความรู้ หรือการส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อาหารต่างๆ เค็มน้อยลงด้วย"  ทพญ.กนิษฐา กล่าว

 

ด้าน รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา อายุรแพทย์ทางด้านหน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุก 2 วินาที มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases :NCDs ) และโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke  โรคหัวใจ เป็นลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตนั้น

 

“สาเหตุหลักๆ ของโรค NCDs คือการบริโภคเกิน หวานเกิน เค็มเกิน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรณรงค์ลดปริมาณการบริโภคเกลือลงให้ได้ โดยประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายการบริโภคเกลือลงให้ภายในปี 2568 ประชาชนต้องบริโภคเกลือลดลง 30% แต่ ณ วันนี้เรายังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ห่างไกล"

 

การกินเค็มกับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ 2.5 แสนรายต่อปี หรือ 690 คนต่อแสนประชากร ทำให้เสียชีวิตและทุพพลภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้สูงอายุ

 

 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความดันเลือดสูง คือการบริโภคเกลือ ผงชูรส ผงฟู ที่มากเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยคนไข้จะไม่รู้ตัวเลยหากไม่มีการตรวจ หรือวัดความดัน”

 

 รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา

 

สำหรับประเทศไทยที่มีข้อเสนอการเก็บภาษีความเค็ม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีโซเดียมลดลงให้ผู้บริโภคนั้น รศ.นพ.สมบัติ กล่าวว่า นโยบายเก็บภาษีโซเดียม นอกจากทำให้ราคาสูงขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คนไทยตระหนักรู้ว่า อาหารประเภทไหนควรระวังก่อนการบริโภค และทำให้ผู้ประกอบการคิดสูตรอาหารที่มีโซเดียมลดลง หรือสูตรเพื่อสุขภาพออกมา

 

“วันนี้เทรนด์ (trends) การดูแลสุขภาพมาแล้ว แต่ยังจุดกระแสไม่ติด ผมอยากเชิญชวนภาคอุตสาหกรรม แนวโน้มโลกยุคใหม่ อุตสาหกรรมต้องปรับตัว ทำอาหารให้มีคุณภาพ รสชาติอร่อย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากเราอยากเป็นผู้นำด้านอาหารโลก รสชาติอร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับด้วย” รศ.นพ.สมบัติ กล่าว

           

คนไทยเจ็บป่วยอื้อ...เหตุเพราะกินเค็มหนักมาก

 

ด้าน นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการกินเค็มว่า ปกติร่างกายมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับการบริโภคเกลือสูงๆ การบริโภคเกลือหรือโซเดียมสูงนั้นจะทำให้ความสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกายเสียไป โซเดียมจะดึงน้ำให้ขังในร่างกาย ทั้งในเส้นเลือดและระดับเซลล์ โดยไตมีหน้าที่กรองน้ำทิ้งเป็นปัสสาวะ ไตก็จะทำงานหนักขึ้น เพราะพยายามกรอง พยายามรีดน้ำออกจากร่างกาย

 

“ปริมาณน้ำที่สูงขึ้นจากการกินเค็มในร่างกาย ทำให้ความดันสูงขึ้น ความดันที่สูงขึ้นเส้นเลือดไม่สามารถรองรับความดันสูงได้ ซึ่งแรงกระแทกที่สูงผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดบาดเจ็บ นานๆ เข้าจะสะสม เส้นเลือดจะเริ่มอุดตัน ตีบ แคบลง สุดท้าย คนไข้จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด” แพทย์ด้านโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าว และว่า ทั้งเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือน้ำท่วมปอด การบริโภคเกลือที่มากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น

 

จากข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย คนไทยบริโภคเค็มค่อนข้างมาก โดยมีการเก็บปัสสวะดูปริมาณเกลือที่ขับทิ้งในแต่ละวัน พบว่า คนไทยมีการบริโภคเกลือเกิน ถึง 2 เท่าจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน พบภาคใต้ที่มากสุด คือกินถึง 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริโภคเกลือน้อยสุดของประเทศ ขณะที่กรุงเทพฯ กับภาคเหนือ บริโภคเกลืออยู่ในปริมาณกลางๆ

 

นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ

 

สำหรับการปรับการบริโภคเค็มลดลงนั้น นพ.ปริญญ์ เน้นย้ำ ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ หรือไม่ได้ออกกำลังการต้องปรับการกินเค็มลดลง หากลดเค็มไม่ได้ ให้ลดปริมาณลง เช่น แทนที่จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมดจาน กินครึ่งเดียวพอ ที่เหลือทิ้งไป น้ำซุปแทนซดหมดถ้วย ตักกิน 1-2 คำพอ

 

“การกินเค็มลดลง เป็นเรื่องยากแม้จะรณรงค์กันมาเป็นสิบปีโดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรม การปรับปริมาณเค็มลดลงแม้จะไม่เยอะแต่ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปเยอะ พอปรับเจ้าเดียวรสชาติเปลี่ยน ทำให้เสียการตลาด อร่อยสู้เจ้าอื่นไม่ได้ จึงยากมาก ฉะนั้นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น เรื่องเค็มได้เป็นปัญหาทั่วโลก” นพ.ปริญญ์ กล่าว

logoline