svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับคนที่มีเงินพอจะซื้อเครื่องปรับอากาศหรือมีที่พักอาศัยดีพอให้หลบแดดก็คงพูดได้ว่า “ความร้อนในเมืองไทยก็คือสวรรค์ดีๆ นี่เอง” แต่สำหรับคนจน อากาศร้อนนั้นเปรียบดั่งนรก และอาจถึงขั้นตายได้จริงๆ

อากาศร้อนพาคน(จน)ไปสวรรค์ได้จริงๆ

แต่ก่อนเราสามารถออกจากบ้านรับแสงแดดเพื่อให้ผิวได้รับวิตามิน D กันได้ ทว่าทุกวันนี้แค่เดินออกจากบ้านช่วงสายๆ ก็สัมผัสได้ถึงความร้อนระอุที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยพุ่งทะลุเกินกว่า 44 องศาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราวกับว่าประเทศไทยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียงไม่กี่กิโลเมตร 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า โลกของเราได้เดินทางเข้าสู่ ยุคโลกเดือด (global boiling) เป็นที่เรียบร้อย

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน

อย่างไรก็ดี ปัญหาโลกเดือดและความร้อนในปัจจุบันไม่ใช่แค่ปัญหาเล็กๆ ที่แค่เปิดแอร์แล้วจะดีขึ้น แต่มันกำลังสร้างผลกระทบไปในวงกว้างและครอบคลุมหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือในระดับบุคคลอย่างปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัญหาโลกเดือดมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบนั้นอย่างเท่าเทียม 

โลกเดือดคือปัญหาที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนควรเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรคฮีตสโตรก) ของกรมอนามัย เผยว่าระหว่างปี 2019-2023 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมจากกลุ่มโรคดังกล่าว 131 คน หรือเฉลี่ย 26.1 คนต่อปี อีกทั้งยังตรวจพบถึงแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ทางองค์การอนามัยโลกยังคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน 58 ต่อ 100,000 ประชากร หรือ ประมาณ 14,000 คน ภายในอีก 57 ปีข้างหน้านี้

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน
 

ทั้งนี้ความร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราด้วย โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดเพื่อระบายความร้อน ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาระดับการไหลเวียนของเลือก ซึ่งการที่หัวใจเต้นหนักขึ้นนี้เองจึงทำก่อให้เกิดความเครียดจากความร้อน (heat stress)

นอกจากนี้ความร้อนยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วย อาทิ การนอนหลับ การทำงาน ฯลฯ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้เองยังเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความวิตกกังวล ความเครียด หรือปัญหาด้านการจำ เป็นต้น

 

อากาศร้อนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบของความร้อนไม่ได้แสดงออกแค่ปัญหาสุขภาพกายและใจในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งกระทบในระดับสังคมและเศรษฐกิจด้วย โดยมูลนิธิ เอเดรียน อาชท์ ร็อกกีเฟลเลอร์ (Adrienne Arsht-Rockefeller Foundation Resilience Center) เผยว่าในปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังเผชิญหน้ากับความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีแนวโน้มที่จะทุเลาลงแม้แต่น้อย และความร้อนโดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50% ในปี 2050 ซึ่งสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง จนทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าการผลิตโดยรวม 5% ต่อปี หรือประมาณ 2.93 แสนล้านบาทต่อปี

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน
 

ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่มีภาคส่วนไหนเข้ามาจัดการหรือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังทางมูลนิธิฯ ยังคาดการณ์ว่า ประชากรในกรุงเทพฯ อาจสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นถึง 6% หรือประมาณ 5.32 แสนล้านบาทต่อปี 

หากมองในภาพรวมพบว่าความร้อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในลักษณะแบบโดมิโน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ล้มต่อกันเป็นทอดๆ กล่าวคือ เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลงย่อมส่งผลต่อผลผลิตและค่าจ้างลดลง ตลอดจนนำไปสู่การลดลงของความต้องการผลผลิตหรือสินค้าในตลาด ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจลดน้อยลง

 

‘Climate Apartheid’ กับการอธิบายผลกระทบของความร้อนกับความยากจน

ความร้อนไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งคำที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนหรือภาวะโลกเดือดกับคนในสังคมได้ดีที่สุดคือคำว่า ‘Climate Apartheid’ หรือ การแบ่งแยกทางสังคมจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน

Climate Apartheid คือ คำที่ใช้ในการอธิบายภาพของสังคมที่เกิดการแบ่งแยกผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนในสังคมได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งคนรวยสามารถที่จะพาตัวเองหลุดพ้นจากปัญหาด้านภูมิอากาศได้ ในขณะที่คนจนต้องเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 

องค์การสหประชาชาติเผยว่า ภายในปี 2030 จะมีคนจนเพิ่มมากขึ้นกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และภายในปี 2100 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้ประชากรในอีกหลายภูมิภาคทั่วโลกจนลงมากขึ้น สาเหตุจากคุณภาพของประชากรที่ด้อยลงและการภาวะการขาดความมั่นคงทางอาหาร 

คนจนมากมายทั่วโลกต้องแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่คนรวยก่อขึ้นมาอย่างปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่คนจนมีส่วนในการปล่อยน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่คนรวยปล่อยออกมา โดยมีรายงานศึกษาจาก Oxfam องค์การภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นการขจัดความยากจนในสังคม ชี้ให้เห็นว่า คนรวยที่สุดเพียง 1% ของโลก ปล่อยคาร์บอนมากกว่าประชากรที่อยู่ในระดับยากจนมากกว่า 5 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลก

ความร้อนในเมืองไทย สวรรค์ของคนรวย นรกของคนจน

หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นว่าคนรวยเหล่านั้นผลิตคาร์บอนมากแค่ไหน อาจกล่าวได้ว่าคนอีก 99% ที่เหลือ ต้องใช้เวลามากกว่า 1,500 ปี ในการสร้างคาร์บอนเทียบเท่ากับประชากรที่รวยที่สุดเพียง 1% 

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนจนต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่พวกเขาแทบจะไม่ได้ก่อไว้ ต่อให้คนกว่า 99% ทั่วโลกหันมาใช้ถุงผ้าและไม่ใช่หลอดพลาสติกมากแค่ไหน ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาโลกเดือดได้เท่ากับการที่คนอีก 1% ที่เหลือของโลก มองเห็นและเข้าใจถึงปัญหาที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

ท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาจากความร้อนทั้งทางกายภาพ ทางจิตใจ รวมถึงทางเศรษฐกิจมากที่สุดก็คือคนจน ส่วนคนรวยที่เป็นต้นเหตุของปัญหานั้นกลับหลุดพ้นและแทบจะไม่สนใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยที่คนรวยหลายคนสามารถตัวเลือกในการหลีกหนีปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแอร์ หรือเลือกที่จะไม่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทว่าคนจนกลับไม่มีตัวเลือกมากขนาดนั้น ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าอากาศร้อนไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคมที่ต้องการแก้ไขมากกว่าการลดใช้พลาสติกในแต่ละวัน 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline