svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คลิปเด็ด

สืบสวนความจริง : ส่อง 7 มาตรการเชิงรุกรับมือ“แก๊งคอลเซ็นเตอร์”

03 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างออกมารณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจป้องกันภัยคุกคามนี้ ล่าสุดกระทรวงยุตธิรรม ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ “อย่าโอน” มุ่งหวังให้เข้าถึงประชาชน เข้าถึง รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมิจฉาชีพ

รองผบ.ตร. "พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์" ซึ่งดูแลคดี “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ให้สัมภาษณ์รายการ "สืบสวนความจริง" ว่า นอกจากตำรวจ จะใช้มาตรการเชิงรับแล้ว ยังมีมาตรการเชิงรุกสกัดกั้น ด้วยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหานี้

 

โดยยอมรับว่า ขณะนี้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ขยายวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ "ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ" สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีมาตรการเชิงรุกในการสกัดกั้นอย่างจริงจัง โดยเริ่มจาก "สมาคมธนาคารไทย"

 

ตำรวจ และ "สมาคมธนาคารไทย" ได้หารือทำ MOU กับ 21 ธนาคาร เพื่อลด “บัญชีม้า” ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการเงินของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ รวมไปถึง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน /อายัดบัญชีไว้ตรวจสอบ และอายัดเงินคืนให้กับผู้เสียหายให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังประสานหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อหาแนวทางการหลอกลวงลงทุนในลักษณะสกุลเงินดิจิตอล 

 

ประสานความร่วมมือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.  เข้ามาช่วยเรื่องของการปิดกั้นเบอร์ที่ต้องสงสัยที่โทรจากต่างประเทศเช่นการระบุ +66 นำหน้า ซึ่งอาจจะมีหลุดรอดเบอร์โทรนำหน้าด้วย 08.... ต้องร่วมกันหารืออีกครั้ง  รวมถึงการจัดระเบียบซิมมือถือ
 

เปิดโครงการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทาง www.thaipoliceonline.com หรือปรึกษาปัญหาได้ที่เบอร์ด่วน 1441  เพื่อให้ตำรวจรับรู้ปัญหาจากประชาชนเร็วที่สุด และป้องกันปัญหาโรงพักไม่รับแจ้งความ ทันทีที่มีการแจ้งความผ่านทางออนไลน์ จะมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ความรับผิดชอบหน่วยงาน ประสานกับผู้เสียหายภายใน 3 ชั่วโมง ขณะที่ฝ่ายสืบสวนเริ่มทำงานทันที ไม่ต้องรอสอบสวน สิ่งแรกที่ทำได้เลยคืออายัดบัญชีเบื้องต้นก่อน 3 ชั่วโมง เมื่อมั่นใจว่าเป็นบัญชีเข้าข่ายความผิดจะขออายัดเพิ่มอีก 7 วัน  จากนั้นพนักงานสอบสวนจะทำเรื่องขออายัดบัญชีจนกว่าจะเสร็จคดีความ  

 

พัฒนาบุคคลโดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทุนให้ตำรวจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในต่างประเทศ เกี่ยวกับสายงานทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านไซเบอร์

 

สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน และควรมีหลักสูตรการเรียน การสอน เกี่ยวกับกลลวงเหล่านี้ด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทุกคนต้องมี “สติ” เมื่อรับโทรศัพท์ที่พาดพิงถึงการโอนเงิน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ต้องทำการตรวจสอบอีกครั้งกับหน่วยงาน และตัวบุคคลที่ถูกพาดพิงก่อนเมื่อประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ตำรวจไม่อยากให้ประชาชนต้องมาแจ้งความ เพราะนั้นหมายถึงการสูญเสียแล้ว ดังนั้น ต้องระมัดระวัง และมีสติ ถือเป็นเกราะป้องกันชั้นแรกได้ดีที่สุด 

 แจ้งความออนไลน์ เดือนเดียวกว่า 5 พันเรื่อง

 

สำหรับสถิติการรับแจ้งของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ระหว่างวันที่ 1-20 มีนาคม 2565 พบมีการแจ้งผ่านเว็บไซต์ 5,132 เรื่อง

 

-รับแจ้งเป็นคดีออนไลน์4,649 เรื่อง แบ่งเป็นคดีหลอกลวงด้านการเงิน3,737 เรื่อง/หลอกจำหน่ายสินค้าออนไลน์724 เรื่อง/เฟคนิว87 เรื่อง /ล่วงละเมิดทางเพศ8 เรื่อง /การพนันออนไลน์18 เรื่อง และอื่นๆ 75 เรื่อง

 

เรื่องที่รับแจ้งทั้งหมดได้ส่งให้สน.และสภ.แต่ละพื้นที่ รวมถึงหน่วยที่มีอำนาจสอบสวนแล้ว จำนวน 4,580 เรื่อง อยู่ระหว่างติดต่อผู้เสียหายเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม 69 เรื่อง โดยคดีที่ได้รับแจ้งเป็นคดีออนไลน์มีความเชื่อมโยงกัน 280 เรื่อง33 กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด

 

การแบ่งกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด แบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้

1.หลอกลวงขายสินค้ามี 16 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 131 ราย 

2.หลอกลวงขาย ATKมี 5 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 21 ราย

3.หลอกลวงทางด้านการเงิน4 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 39 ราย

4.หลอกลงทุนน้ำมัน “ออสซี่ออยล์มี 1 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 66 ราย

5.หลอกลงทุนธุรกิจเพชรมี 1 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 5 ราย

6.หลอกให้กู้ยืมเงินมี 1 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 4 ราย

7.หลอกให้ทำภารกิจ2 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 6 ราย

8."คอลเซ็นเตอร์" มี 3 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 9 ราย ได้อายัดบัญชี 827 บัญชี รวมเงินอายัด 238,818,445.68 บาท สามารถอายัดเงินได้ 47,209,574.41 บาท

 

ตร.มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจการทำงาน

 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวถึงอุปสรรคของการทำงานว่า ปัจจุบันภัยคุกคามนี้เกิดขึ้นรวดเร็วหลากหลายรูปแบบผ่านทางออนไลน์ แต่กฎระเบียบ กฎหมาย หรือหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขเรื่องต่างๆ ไม่ได้รวดเร็วแบบภัยคุกคาม ซึ่งต้องปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกันกับตำรวจที่ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานต้องเข้าระบบตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ศูนย์ฯทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงหากประชาชนรู้เท่าทัน และตำรวจมีประสิทธิภาพในการจับกุมตัวการเยอะๆ เชื่อว่าจะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อน้อยลง

 

“ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือผ่านทางออนไลน์จะต้องรู้พิษภัยที่จะมาหลอกลวงท่านจะมาในรูปแบบไหนบ้างก็จะถูกหลอกได้ยากขึ้น ตำรวจพยายามพัฒนาอบรมบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาเรียนหลักสูตรระยะสั้นในประเทศ รวมถึงส่งบุคลากรไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านไซเบอร์ปีละ 4 ทุน เพื่อรองรับปัญหาในด้านนี้”

 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ได้ให้ความมั่นใจกับประชาชน ว่า ตำรวจพยายามทำมาตรการเชิงรุกให้เท่าทันกับปัญหาที่นับวันจะมีความรวดเร็ว ซับซ้อน และเก่งมากขึ้นในการเจาะข้อมูลส่วนบุคคล มาในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาศัยความโลภ ความกลัว หลงเชื่อ ก็ขอให้ตั้งสติให้ดี ตอนนี้ท่านยังมีที่พึ่ง หากปรึกษาหรือขอคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนบช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCTโทร 0818663000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือระบบแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.comและขอให้เรียนรู้ภูมิคุ้มที่ตำรวจจะประชาสัมพันธ์เป็นระยะ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป

logoline