svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คลิปเด็ด

ป.ป.ช. ปักหมุดทุจริตงบพันล้าน “สร้างเขื่อนพัง”

01 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ป.ป.ช ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิเคราะห์สภาพปัญหาและข้อเท็จจริงตามประเด็นความเสี่ยงการทุจริต การก่อสร้าง "เขื่อนคลองแสนแสบ นครเนื่องเขต" เขตหนองจอก กรุงเทพฯ งบประมาณ ร่วมพันล้านบาท พร้อมรับฟังเสียงสะท้อน ปชช.ที่ได้รับผลกระทบ

เวลา 09.00 น. วันที่ 28 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต นำโดย นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต นำคณะ TaC Team ป.ป.ช. พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กรุงเทพมหานคร (ศปท.) สำนักงานเขตหนองจอก สำนักการระบายน้ำ สังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงาน ป.ป.ท.

 

การก่อสร้าง "เขื่อนคลองแสนแสบ นครเนื่องเขต"

 

ร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาและข้อเท็จจริงประเด็นความเสี่ยงการทุจริตการก่อสร้างเขื่อนคลองแสนแสบ-นครเนื่องเขต (เขตหนองจอก) กรุงเทพมหานคร โดยลงสำรวจพื้นที่ทางน้ำตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก ถึงสุดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคลองนครเนื่องเขต จากคลองแสนแสบถึงบริเวณคลองหลวงแพ่ง เขตหนองจอก ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

โดยประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสของเครือข่ายภาคประชาชนชมรม Strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต กรุงเทพมหานคร กลุ่มโซนกรุงเทพตะวันออก ในการติดตามกรณีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) พร้อมทางเดินริมคลองแสนแสบ-นครเนื่องเขต

 

การก่อสร้าง "เขื่อนคลองแสนแสบ นครเนื่องเขต"

 

กรณีการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับคุณภาพการก่อสร้าง เช่น เขื่อนล้ม และชำรุดเสียหาย ประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับอาจเกิดการลักลอบขุดดินบริเวณก่อสร้างออกนอกพื้นที่ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็พบปัญหาจากการทรุดตัวและพังทลายของแนวเขื่อน รวมไปถึงอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเกิดความเสียหาย (เขื่อนทรุด เขื่อนเอียง แตกร้าว) และทรุดตัวตลอดตามแนวการสร้างเขื่อน

 

การก่อสร้าง "เขื่อนคลองแสนแสบ นครเนื่องเขต"

 

หลังจากนั้น ในเวลา 12.30 น. คณะ TaC Team และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าว โดยมี รศ. ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. และที่ปรึกษาโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC) 

ร่วมรับฟังและแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้

1. สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพฯ จะดำเนินการเร่งรัดให้ผู้รับเหมาแก้ไขในจุดที่มีปัญหาจากการสร้างเขื่อน จุดที่ชำรุด เขื่อนพัง เขื่อนล้ม และจุดที่สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากการต่อสัญญาครั้งล่าสุด สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 ทั้งนี้ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 5 เดือน (กรกฎาคม 65)

 

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันพัฒนาคลองให้มีชีวิต สามารถใช้ประโยชน์จากคลองนอกเหนือจากการกักเก็บน้ำ หรือระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

 

สำนักงานเขตหนองจอก รับไปดูแลการประชาสัมพันธ์

 

3. สำนักงานเขตหนองจอก รับไปดูแลการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และดูแลปัญหาของประชาชนในเขตหนองจอกที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน

 

4. สำนักงาน ป.ป.ท. และ ส.ต.ง. ขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการควบคุมการก่อสร้าง ให้มีคุณภาพ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า และเยียวยาประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมถึงเสนอแนะให้กรุงเทพมหานครนำเครื่องมือ ITA มาใช้ในการสร้างสังคมโปร่งใสในการดำเนินงาน ทั้งในภาพรวมของกรุงเทพฯ และการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตหนองจอก เพื่อให้มีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

 

สำนักงานเขตหนองจอก รับไปดูแลการประชาสัมพันธ์

 

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะทำการรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมกันภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ(พื้นที่กรุงเทพมหานคร) ต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช.(พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ) ในฐานะประธานอนุกรรมการการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทราบ และจะติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาของทั้งสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตหนองจอก อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด

 

สำนักงานเขตหนองจอก รับไปดูแลการประชาสัมพันธ์

 

 

logoline