svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

15 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องความผิดปกติของปัสสาวะ เพราะกลิ่นฉี่ที่เปลี่ยนไปกำลังบอกถึงอะไรที่เปลี่ยนแปลง เปิดสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ ฉี่น้อย-ฉี่บ่อย พร้อมรู้ถึงอันตรายต่อสุขภาพที่คุณอาจเป็นอยู่แต่ไม่รู้ตัว!!

คนวัยทำงาน "ดื่มน้ำน้อย" ด้วยไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันและกิจวัตรที่ยุ่งเหยิง ทำให้หลายคนดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อนำไปชดเชยน้ำที่มีการเสียไปในเเต่ละวัน ไม่เพียงเท่านั้น คนทำงานยังชอบ "กลั้นปัสสาวะ" ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่ายและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั้งยังทำให้ปัสสาวะติดขัดและมีกลิ่นฉุน ซึ่งบอกถึงโรคหรือความผิดปกติภายในร่างกายได้อีกด้วย

ใน “ปัสสาวะ” ประกอบด้วยน้ำและของเสียที่ขับออกมาจากไต ของเสียเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อกลิ่นของน้ำปัสสาวะ โดยปกติปัสสาวะจะมีลักษณะใสจนถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นเฉพาะที่ไม่ฉุนรุนแรงจนเกินไป อาจมีกลิ่นเปลี่ยนไปบ้าง ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อาหาร ยา หรือเครื่องดื่มที่รับประทาน ฯลฯ

แต่ถ้าหากปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงหรือกลิ่นลักษณะผิดปกติไป อาจบ่งบอกถึงภาวะหรือโรคบางอย่างได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูง โรคตับ กระเพาะปัสสาวะมีรูรั่วต่อกับลำไส้หรือช่องคลอด โรคพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยกรดอะมิโนบางชนิด และเกิดการสะสมของสารดังกล่าวในน้ำปัสสาวะจำนวนมากจนเกิดกลิ่นผิดปกติ โดยกลิ่นจะมีลักษณะอับ หรือกลิ่นเหมือนน้ำเชื่อม

ซึ่งนอกจากกลิ่นฉุนที่รุนแรงผิดปกติแล้ว ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีไข้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปัสสาวะกลิ่นหวาน (เบาหวาน) คลื่นไส้ อาเจียน อาการสับสน ตัวเหลือง-ตาเหลือง(โรคตับ) ฯลฯ ในกรณีที่กล่าวมานี้ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

กลิ่นฉี่ที่เปลี่ยนไปกำลังบอกถึงอะไรที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ เกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

1. ร่างกายกำลังขาดน้ำ

การดื่มน้ำน้อยจะทำให้สีปัสสาวะเข้มขึ้นและมีกลิ่นเหม็นมากกว่าปกติ เนื่องจากการที่สารน้ำมีน้อยยิ่งทำให้สัดส่วนของเสียเข้มข้นขึ้นนั่นเอง ซึ่งสามารถแก้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นได้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตรต่อวันก็จะดี และคอยสังเกตด้วยว่าเมื่อดื่มน้ำเยอะแล้วสีปัสสาวะอ่อนลงหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะยังเหม็นอยู่ไหม เพราะหากกลิ่นไม่กลับไปเป็นปกติอาจมีสาเหตุอื่นๆ ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

2. การกินอาหารที่มีกลิ่นแรง

บางครั้งเราจะรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นเหมือนอาหารที่กินเข้าไป เช่น ปัสสาวะมีกลิ่นชะอม กลิ่นหน่อไม้ฝรั่ง สะตอ หัวหอม กระเทียม หรืออาหารกลิ่นแรงๆ ซึ่งสาเหตุนี้เกิดจากร่างกายไม่มีเอนไซม์ย่อยอาหารที่เรากินไปได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ร่างกายต้องช่วยขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งความผิดปกตินี้ก็พบได้บ่อยและไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแค่ดื่มน้ำเยอะๆ หรือรอจนร่างกายขับถ่ายอาหารชนิดนั้นออกมาหมดแล้ว กลิ่นปัสสาวะก็จะกลับมาเป็นปกติ

ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

3. ดื่มกาแฟหรือนมมากเกินไป

ข้อนี้หลายคนเป็นบ่อย เพราะเวลาที่เราดื่มแต่นมมากๆ หรือดื่มกาแฟเข้าไป ก็อาจปัสสาวะเป็นกลิ่นกาแฟหรือกลิ่นนมได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเอนไซม์ในร่างกายอาจย่อยไม่ทัน และพยายามขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ นอกจากนี้ สีของปัสสาวะก็ยังอาจมีสีขาวขุ่นเหมือนสีนม หรืออาจมีสีเข้มขึ้นจากคาเฟอีนด้วย

4. กินยาหรือวิตามินเสริมบางชนิด

สำหรับคนที่กินยา เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาในกลุ่ม Sulfonamide หรือกินวิตามิน อาหารเสริม เช่น วิตามินบี ธาตุเหล็ก ก็อาจได้กลิ่นปัสสาวะเป็นกลิ่นยา กลิ่นวิตามินที่กินเข้าไปได้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าอันตราย หรือถ้าไม่อยากให้ปัสสาวะเหม็นก็ลองปรึกษาแพทย์ว่าสามารถเปลี่ยนยาหรือหยุดรับประทานอาหารเสริมได้หรือเปล่า

5. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

หากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาจได้กลิ่นปัสสาวะเป็นกลิ่นเหมือนไข่เน่า กลิ่นคาวปลา หรือได้กลิ่นฉุนแอมโมเนียจัดๆ ซึ่งเกิดจากการคั่งค้างของสารประกอบต่างๆ ในร่างกาย และถ้าลุกลามจนเป็นหนอง ก็มักจะพบร่วมกับภาวะปัสสาวะขุ่นเป็นหนองด้วย

6. การติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์

เช่น หนองใน การติดเชื้อยีสต์ เชื้อราในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนกว่าปกติ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัน ปัสสาวะแสบขัด ตกขาวมาก หรือเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา

7. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติก็คือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ Cystitis ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะและทำให้เกิดการอักเสบ โรคนี้พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายหลายเท่า เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนัก จึงเสี่ยงเจอเชื้อโรคได้มากกว่า และอาการของโรคนี้ก็จะมีทั้งปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอย ปวดปัสสาวะบ่อย รู้สึกปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะมีสีขุ่น มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ปวดแสบขัดขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน ปวดท้องน้อย ปวดหลังส่วนล่างร่วมด้วย

ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

8. กระเพาะปัสสาวะมีรูรั่วต่อกับลำไส้หรือช่องคลอด

สำหรับกรณีนี้อาจมีปัสสาวะกลิ่นเหม็นกว่าปกติ หรือปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นแรงเหมือนอุจจาระ จากกลิ่นอาหารที่หมักหมมในลำไส้ และผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีภาวะปัสสาวะเล็ดรั่วร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดีและแจ้งอาการกับแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การตรวจรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากบางคนอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดแบบไม่รู้ตัว

9. โรคเบาหวาน

นอกจากจะสังเกตได้จากมดที่ขึ้นตามสุขภัณฑ์ที่เลอะปัสสาวะของผู้ป่วยแล้ว การที่ปัสสาวะมีกลิ่นน้ำนมแมว กลิ่นหวานๆ เหมือนกลิ่นผลไม้ก็บอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง หรือภาวะโรคเบาหวานที่เป็นมากและไม่ได้รับการรักษาได้เช่นกัน ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป 

10. นิ่วในไต

หากเป็นนิ่วในไตอาจมีสีปัสสาวะขุ่นแดง พบลักษณะคล้ายเม็ดทรายเล็กๆ หรือก้อนนิ่วหลุดมาพร้อมน้ำปัสสาวะได้ อีกทั้งหากติดเชื้อรุนแรงก็อาจเป็นหนองและทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นเน่ามากขึ้น

11. โรคไต

ผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียไป การกรองของเสียก็จะเริ่มบกพร่องจนทำให้ปัสสาวะเหม็นผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังอาจพบอาการปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะมากกว่าปกติก็ได้ รวมไปถึงอาจมีปัสสาวะเป็นฟองมาก หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ในบางครั้ง ซึ่งเมื่อเจอสัญญาณดังกล่าวควรรีบไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ด่วน

12. โรคตับ

หากตับทำงานได้ไม่ดีก็จะบกพร่องในการกำจัดสารพิษ และกรองของเสียออกจากร่างกายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเกิดการสะสมของสารต่างๆ ในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น ทำให้กลิ่นปัสสาวะเหม็นผิดปกติ มีสีเข้มกว่าปกติ และอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้

13. ต่อมลูกหมากอักเสบ

เมื่อต่อมลูกหมากอักเสบก็มักจะเกิดการอักเสบในบริเวณรอบๆ ด้วย ซึ่งอาจไปข้องเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้อวัยวะนี้เกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น ปวดองคชาต ปวดหลังส่วนล่าง ปัสสาวะแสบขัด มีอาการปวดขณะปัสสาวะ เป็นต้น

14. โรคฟีนิลคีโตนูเรีย

โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายขาดความสามารถในการย่อยกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ทำให้สารเหล่านี้ไปสะสมในเลือดและในน้ำปัสสาวะจำนวนมาก จึงส่งกลิ่นเหม็นอับหรือเหม็นสาบออกมา

ความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ในร่างกาย หากเกิดขึ้นบ่อย เป็นอยู่ประจำ และลองเปลี่ยนพฤติกรรมก็ไม่หายไป ควรรีบเอะใจแล้วไปพบแพทย์ให้ไว อย่างอาการปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นก็เช่นกัน

 

ปริมาณการขับถ่ายปัสสาวะเท่าไหร่ปกติและผิดปกติ

โดยปกติคนทั่วไปจะมีการขับถ่ายปัสสาวะวันละ 3 ถึง 5 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายปัสสาวะควรเป็นเวลากลางวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงก่อนเข้านอน ส่วนเวลากลางคืนหลังเข้านอนแล้ว ไม่ควรขับถ่ายปัสสาวะอีกไปจนกว่าจะถึงเช้า ยกเว้นเด็กเล็ก หรือดื่มน้ำมากเกินไป คิดมาก นอนไม่หลับ อาจทำให้มีการขับถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืนได้ สำหรับเด็กอายุ 1 ถึง 6 ขวบ จะขับถ่ายปัสสาวะในวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามส่วนของหนึ่งลิตร (ประมาณ 1 แก้วครึ่ง) และไม่ควรมากกว่าหนึ่งลิตร เด็กอายุ 6 ถึง 12 ขวบ ควรขับถ่ายปัสสาวะวันหนึ่งไม่น้อยกว่าครึ่งลิตร และไม่ควรเกินสองลิตร ส่วนวัยผู้ใหญ่ควรขับถ่ายปัสสาวะวันละเกือบถึงหนึ่งลิตร และไม่ควรเกินสองลิตร

การขับถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ อาจเป็นเพราะมีความวิตกกังวล ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อยากขับถ่ายปัสสาวะอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เป็นโรคไต หรือโรคทางเดินปัสสาวะก็ได้ ถ้าปัสสาวะกะปริบกะปรอยบ่อยเป็นประจำ อาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือเป็นโรคไตพิการเรื้อรัง

การขับถ่ายปัสสาวะน้อยไป ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มน้ำปริมาณน้อย ซึ่งเกิดจากการเสียน้ำภายในร่างกายจากทางอื่น เช่น เหงื่อออกมาก ท้องเดินท้องร่วง อาเจียนมาก เป็นต้น ส่วนน้อยที่จะเกิดจากโรคไต โรคหัวใจ และอื่น ๆ ถ้ามีการขับถ่ายปัสสาวะมากไป ส่วนใหญ่มักเกิดจากาการดื่มน้ำปริมาณมาก หรือพบในโรคเบาหวาน เบาจืด โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคไตพิการเรื้อรังบางระยะ การกินยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

ในบางครั้งพบว่าไม่มีการขับปัสสาวะออกมาเลย หรือทั้งวันขับถ่ายปัสสาวะได้น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วนของลิตร (น้อยกว่า 1 ถ้วยแก้ว) อาจเกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ, โรคเป็นพิษเนื่องจากปรอท, โรคไตอักเสบอย่างรุนแรง, ภาวะช็อค (เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ) เป็นต้น สำหรับอาการผิดปกติในการขับปัสสาวะ เช่น ปวดท้องน้อยในขณะถ่ายปัสสาวะ แสบที่ช่องถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะแล้วรู้สึกไม่สุดอยากจะถ่ายอีกทั้งๆ ที่ไม่มีปัสสาวะ ปัสสาวะขัด อาจมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

 

Source : สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

logoline