svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ก.ค.-ส.ค.จุดพีค 'ไข้เลือดออก' เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวังยุงกัดส่ออาการหนัก

20 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สธ.คาดการณ์ไข้เลือดออกปีนี้ระบาดหนักกว่าหลายปีที่ผ่านมา เผยเดือน ก.ค.-ส.ค.น่าจะเป็นจุดสูงสุด เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวังยุงกัด ทั้งหญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน คนแก่ และผู้ป่วยเรื้อรัง

รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประจำสถานการณ์ที่ 27 ปี 2566 (ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 กรฎาคม 2566) พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมทั้งประเทศ 36,470 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 32 ราย ขณะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 3,335 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ก.ค.-ส.ค.จุดพีค \'ไข้เลือดออก\' เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวังยุงกัดส่ออาการหนัก

โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมวิชาการ Dengue Effective for Treatment and Prevention การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ว่าปีนี้ไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. น่าจะเป็นจุดสูงสุดของไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนที่ฝนตกสลับหยุด ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น บวกกับประเทศไทยไม่มีการระบาดของไข้เลือดออก มา 2-3 ปีจากที่โควิด-19 ระบาด คนไม่ค่อยมีการเดินทาง การระบาดของโรคไม่รวดเร็วและกว้างขวาง  คนจึงมีภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกลดน้อยลง

ก.ค.-ส.ค.จุดพีค \'ไข้เลือดออก\' เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวังยุงกัดส่ออาการหนัก

แพทย์เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวังยุงกัด!

นพ.กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุพห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน และเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก ปีนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้วหลักหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ดังนั้น ต้องป้องกันตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด อย่าให้ตกเป็นเหยื่อของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรดไข้เลือดออก

ขอเตือนให้ระวังอย่าให้ถูกยุงกัด โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยแล้วจะเสี่ยงมากกว่าคนปกติ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 หญิงตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะนอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว หากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาอาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น ดังนั้น หากมีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด แต่ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที

กลุ่มที่ 2 คนอ้วน คนที่มีน้ำหนักตัวมากมีโอกาสเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกรุนแรงกว่าคนน้ำหนักปกติ  ไม่ว่าจะเด็กอ้วนหรือผู้ใหญ่อ้วนก็เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงกว่า มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า มีโอกาสเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออกมากกว่า และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้เลือดออกมากกว่า อาทิ ไตวายเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลว เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกผิดปกติ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด และควบคุมน้ำหนัก

กลุ่มที่ 3 และ 4 ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืค อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

 

พร้อมกันนี้ได้แนะนำให้ยึดหลัก "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ

1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง

2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

เพื่อป้องกัน 3 โรคในคราวเดียวกันคือ

1.โรคไข้เลือดออก

2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

3.ไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง 2 วันไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขน ขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

 

logoline