svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก?

25 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาการแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์? รู้ทันอาการ "โรคไข้เลือดออก" พร้อมสังเกตความเหมือน-ความต่างระหว่าง "ไข้เลือดออก" กับ "โควิด-19" สองโรคที่เด็กเล็กและผู้สูงอายุต้องระวัง!!

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 พฤศจิกายน 2565) พบตัวเลขรายงานผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 34,257 ราย เสียชีวิต 24 ราย พบกลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด คือกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี รองลงมา 45-54 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว ร้อยละ 58.8 ได้รับยา NSAIDs ร้อยละ 29.4 และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 23.5 ตามลำดับ

ไข้เลือดออกติดแล้วติดซ้ำได้อีก

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4  แม้การติดเชื้อครั้งแรกหลายคนมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออก ช็อกหมดสติ หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับโรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะที่สำคัญ ยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในยุงและสามารถถ่ายทอดเชื้อให้คนที่ถูกมันกัดได้ ซึ่งยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน มักจะกัดเวลากลางวัน ดังนั้การตัดวงจรชีวิตของยุงโดยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์อันได้แก่ ภาชนะใส่น้ำใสที่ขังในโอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ กระถาง ยางรถ จึงเป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรทำ

โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกจะพบมากในฤดูฝนเนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน แต่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ อาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี ยิ่งช่วงนี้มีฝนตกในบางวันอากาศที่ครื้มฟ้าครึ้มฝนแบบนี้ยุงลายมักออกมากวนใจให้เราเห็นเป็นประจำ

ทำไมถึงชื่อ “โรคไข้เลือดออก”

ไข้เลือดออก จะแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้ขึ้นสูง ระยะวิกฤตหรือระยะช็อก และระยะฟื้นตัว ซึ่งในช่วงระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อไข้เริ่มลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากไม่มีภาวะช็อกในช่วงระยะที่ 2 อาการป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้น และเข้าสู่ระยะฟื้นตัว หรือระยะปลอดภัย ซึ่งหลังจากมีอาการแสดงวันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีภาวะเลือดออกได้ อาการดังกล่าวเป็นกลไกของโรคไข้เลือดออก ส่งผลให้ระดับเกล็ดเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆ เราจะสามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรคได้ในช่วงที่มีไข้ตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงและเสี่ยงเกิดอาการช็อกได้ เมื่อไข้ลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก? “ไข้เลือดออก” อันตรายถึงชีวิต!

โรคไข้เลือดออกมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั่วร่างกาย (เฉลี่ย 0.3-1%) ได้แก่ ภาวะตับอักเสบ ภาวะไตวาย ภาวะสมองอักเสบ และภาวะอวัยวะในร่างกายล้มเหลวหลายระบบ (Multiple Organ Failure: MOF) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะแทรกซ้อนรุนแรงดังกล่าวจะสามารถพบได้น้อยแต่ต้องระวัง โดยเฉพาะใน

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เสี่ยงเกิดอาการชักจากไข้สูง อาการชักเนื่องจากภาวะสมองอักเสบจากไข้เลือดออก
  • ผู้ใหญ่อายุ 15-60 ปี เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันตอบสนองกับเชื้อไวรัสรุนแรง เสี่ยงเกิดโรครุนแรง เกิดภาวะตับอักเสบ หรืออวัยวะภายในอักเสบ ได้มากกว่าผู้ป่วยสูงอายุ
  • คนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ผลกระทบจากการเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อๆ มา ได้มากขึ้นกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคปอด โรคหัวใจ มีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคปอด และโรคหัวใจ จะเสี่ยงเกิดอาการช็อก และทำการรักษาได้ยากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ

 

อาการแบบนี้ไม่ใช่ไข้หวัด แต่อาจเป็นไข้เลือดออก!

สำหรับผู้ป่วย “ไข้เลือดออก” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มีอาการดังนี้

  1. มีไข้สูงลอยประมาณ 2 - 3 วัน
  2. ผื่น
  3. หน้าแดง
  4. ปวดศีรษะ
  5. ปวดเมื่อย
  6. เบื่ออาหาร
  7. คลื่นไส้อาเจียน
  8. ปวดท้อง

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยหากมีอาการไข้ลดลง อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะทำให้เกิดภาวะช็อกจนกระทั่งเสียชีวิตได้ หรือถ้ามีไข้สูงต่อเนื่องกว่า 2 วัน หากจะเช็ดตัว หรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจอาการและรักษาได้ทันท่วงที

ขณะที่โควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีอาการดังนี้

  1. ไข้ต่ำถึงสูง
  2. ปวดเมื่อยตามตัว
  3. เจ็บคอ
  4. ไอแห้งหรือมีเสมหะ
  5. มีน้ำมูก
  6. หอบเหนื่อยหายใจลำบาก
  7. ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง
  8. อาเจียน
  9. ท้องเสียมีในบางราย
  10. ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง

ไข้เลือดออกใกล้หาย อาการเป็นอย่างไร?

อาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยใกล้จะหายจากโรคไข้เลือดออก และเข้าสู่ระยะปลอดภัยแล้ว หลังจากที่มีไข้สูงต่อเนื่องนาน 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลงครบ 24 ชั่วโมง รู้สึกสบายตัวขึ้น เบื่ออาหารน้อยลง รู้สึกอยากรับประทานอาหาร และมีปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ระบบไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิต และชีพจรเริ่มกลับมาเป็นปกติ ในระยะนี้มักมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย ปลายมือ และปลายเท้า

สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก?

ไข้เลือดออกอันตราย แต่ป้องกันได้!

นอกจากการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ การฉีดวัคซีนไข้เลือดออก โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนโรคไข้เลือดออก สามารถช่วยป้องกันลดการติดเชื้อ 50% ลดความรุนแรงของโรค 80% และลดอัตราการเสียชีวิต 90% เลยทีเดียว

 

logoline