svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

งานวิจัยใหม่ชี้ 'มลพิษทางอากาศ' เร่งการสูญเสียมวลกระดูก

27 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อากาศสกปรกทำกระดูกหักง่ายขึ้น! งานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระดับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะจากท่อไอเสีย กับกระดูกที่มีการสูญเสียมวลเร็วขึ้น เร่งทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

เรื่องของปัญหามลภาวะทางอากาศ กลายเป็นวาระสำคัญของทุกคนในโลกอีกครั้ง เมื่อมีการศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 9,041 คน เป็นเวลา 6 ปี ได้เปรียบเทียบกับระดับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ไนโตรเจนออกไซด์ที่มาจากไอเสียรถยนต์ในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ พบว่าเมื่อมลพิษเพิ่มขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกทั่วร่างกายก็ลดลง

“ผลวิจัยของเรายืนยันว่าคุณภาพอากาศที่ไม่ดี อาจเป็นปัจจัยต่อการสูญเสียมวลกระดูก โดยไม่ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม หรือทางประชากรศาสตร์” Diddier Prada นักวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก กล่าว

งานวิจัยใหม่ชี้ \'มลพิษทางอากาศ\' เร่งการสูญเสียมวลกระดูก

นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างไนโตรเจน (ไอเสียจากรถยนต์) กับกระดูกสันหลัง ว่ามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วง 3 ปี มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกกระดูกสันหลังส่วนเอวเฉลี่ยต่อปีละ 1.22% ซึ่งมากเป็นสองเท่าของปริมาณการสูญเสียตามอายุปกติ โดยทีมนักวิจัยคาดว่าเป็นผลมาจากการที่โมเลกุลที่เป็นพิษจากสิ่งแวดล้อมเข้าไปทำลายเซลล์กระดูก

“เป็นครั้งแรกที่เรามีหลักฐานว่าไนโตรเจนออกไซด์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กระดูกเสียหาย และกระดูกสันหลังส่วนเอวเป็นหนึ่งในจุดที่ไวต่อความเสียหายนี้มากที่สุด” Prada กล่าว

นักวิจัยเรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้นในการลดมลพิษทางอากาศ เช่น การจราจร เป็นแหล่งผลิตไนโตรเจนออกไซด์รายใหญ่ และคุ้มครองผู้ที่อาจเสี่ยงต่อมลพิษนี้ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดย Andrea Baccarelli นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า "การลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะไนโตรเจนออกไซด์ จะช่วยลดความเสียหายของกระดูกในสตรีวัยหมดประจำเดือน ป้องกันกระดูกหัก และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน"

ปัจจุบันมีกรณีกระดูกหักที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนประมาณ 2.1 ล้านคนเกิดขึ้นทุกปี โดยผู้หญิงได้รับผลกระทบจากโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย และกว่าครึ่งหนึ่งของสตรีวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นและประสบปัญหากระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน

เรื่องของ 'มลพิษทางอากาศ' เร่งการสูญเสียมวลกระดูก ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของทีมนักวิจัยนานาชาติ ที่นำโดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา (ISGlobal) ของสเปน ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open (ปี 2020) โดยระบุว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ตอนต้นของเมืองที่มีฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับสูง มีแนวโน้มที่สัดส่วนแร่ธาตุในกระดูกจะลดน้อยถอยลงกว่าปกติ จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของฝุ่น PM2.5 จากสถานที่ 23 แห่งโดยรอบเมืองไฮเดอราบัดของอินเดีย กับความหนาแน่นของแร่ธาตุในมวลกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังของชาวอินเดีย 3,700 คน ที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งคนเหล่านี้มีอายุโดยเฉลี่ย 35.7 ปี

ผลปรากฏว่าพื้นที่ที่ทำการศึกษามีค่าเฉลี่ยของระดับ PM2.5 ในอากาศตลอดทั้งปีที่ 32.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยกำหนดไว้ถึง 3 เท่า

ทีมผู้วิจัยพบว่า เมื่อฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกของประชากรทั้งหญิงและชายจะลดลง 0.011 กรัมต่อตารางเซนติเมตรในกระดูกสันหลัง และลดลง 0.004 กรัมต่อตารางเซนติเมตรสำหรับกระดูกสะโพก ทั้งยังพบว่า ผงฝุ่นเขม่าดำ (Black Carbon) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของฝุ่น PM2.5 มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับมวลกระดูกที่ลดลงด้วย

แม้จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่มลภาวะทางอากาศทำให้สุขภาพของกระดูกอ่อนแอลง แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าการอักเสบภายในร่างกาย และภาวะไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดจากฝุ่น PM2.5 อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะกระดูกเสื่อมและโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้

 

source : openaccessgovernment.org , BBC

 

logoline