svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รู้จัก 5 มะเร็งร้ายในเด็ก อันตรายที่ป้องกันไม่ได้ แต่รักษาให้หายขาดได้

20 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่! โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่สองในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยในล้าน แพทย์เผยมะเร็งในเด็กอันตรายแต่หายขาดได้ หากรู้เร็ว รักษาเร็ว

จากสถิติข้อมูลของชมรมมะเร็งในเด็กได้ทำการรวบรวมไว้ พบว่ามีเด็กที่เป็นโรคมะเร็งประมาณ 100 คน จากประชากรเด็กในประเทศไทย 1,000,000 คน ซึ่งช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กเล็กอายุประมาณ 0-5 ปี หรือคิดคร่าวๆ ก็คือในแต่ละเดือนจะมีเด็กไทยที่เป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นประมาณ 80-90 คน โดยโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยที่สุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย รองลงมาคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง มะเร็งชนิดก้อนของมะเร็งต่อมหมวกไต และมะเร็งไต

รู้จัก 5 มะเร็งร้ายในเด็ก อันตรายที่ป้องกันไม่ได้ แต่รักษาให้หายขาดได้

สาเหตุของโรคมะเร็งในเด็ก

ข้อมูลโดย รศ. นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กลไกการเกิดโรคมะเร็งในเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างชัดเจน เนื่องจากโรคมะเร็งในผู้ใหญ่เกิดจากพฤติกรรม และการไปสัมผัสสารก่อมะเร็งต่างๆ แต่โรคมะเร็งในเด็กนั้น ไม่ได้มีปัจจัยภายนอกมาทำให้เกิดโรคมะเร็ง และสามารถเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือเรียกง่ายๆ ว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ขณะที่กำลังแบ่งเซลล์ออกมาเพื่อสร้างอวัยวะ จนทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง นอกจากสาเหตุเรื่องพันธุกรรมแล้ว ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคมะเร็งในเด็กได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน

รู้จัก 5 มะเร็งร้ายในเด็ก

พญ.นุตตรา สุวันทารัตน์ สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายถึงโรคมะเร็งในเด็กว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับสองในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี โดยในประเทศไทยพบอุบัติการณ์การเกิดโรค มะเร็งในเด็ก ประมาณ 900 คนต่อปี

โดยมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในเด็กไทย คือ

1 มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia) พบ 38.1 คน/ล้านคน/ปี

2 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) พบ 6.4 คน/ล้านคน/ต่อปี

3 มะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง (Brain Tumor) พบ 6.3 คน/ล้านคน/ต่อปี

4 มะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก (Neuroblastoma) พบ 4.9 คน/ล้านคน/ปี

5 มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Tumor) พบ 4.3 คน/ล้านคน/ต่อปี

รู้จัก 5 มะเร็งร้ายในเด็ก อันตรายที่ป้องกันไม่ได้ แต่รักษาให้หายขาดได้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (ลูคีเมีย) เป็นโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยที่สุด ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) ซึ่งพบบ่อยกว่า AML 3 เท่า และ Acute Myeloid Leukemia (AML)

อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่พบได้บ่อย คือ มีไข้ มีอาการซีด และมีจุดเลือดออกตามตัว นอกจากนี้อาจพบว่า มีตับม้ามโต ปวดตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต ในเด็กชายอาจมีอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งโตหรือโตทั้งสองข้าง ร่วมกับตรวจเลือด (Complete Blood Count -CBC) พบเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค ALL และ AML ทำได้โดยเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อดูความผิดปกติของชนิดเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อหาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาและการพยากรณ์โรค

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก ปัจจุบันใช้การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะให้เป็นชุดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร ขึ้นกับชนิดโดยที่ชนิด ALL ใช้เวลารักษาประมาณ 2.5-3 ปี ส่วน AML ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำให้โรคสงบได้หรือมีการกลับเป็นซ้ำจะใช้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่ง ณ ปัจจุบันการปลูกถ่ายไขกระดูกไม่จำเป็นต้องรอเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขาวที่ตรงกันอีกต่อไป สามารถใช้ไขกระดูกจากพ่อแม่ได้ หรือที่เรียกว่า Haploidentical Hematopoietic Transplantation

  • ปัจจุบันการรักษาโรค ALL มีผลการรักษาที่ดี โอกาสหายขาด 80-85%
  • ส่วนการรักษาโรค AML มีโอกาสหายขาดประมาณ 55%
  • ส่วน AML มีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 50% จากการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด แต่ถ้าได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกตั้งแต่ระยะแรกจะมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 80% เช่นเดียวกัน

 

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งชนิดนี้พบรองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin

ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากเวลากลางคืน ต่อมน้ำเหลืองโตตามร่างกาย อาจพบก้อนที่ช่องทรวงอก ก้อนในช่องท้อง ตับและม้ามโต

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก โรคนี้จำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อจากก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองมาตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดทางพยาธิวิทยา รวมถึงต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อดูการกระจายของตัวโรค เช่น การตรวจทางรังสีวินิจฉัย (CT scan, Gallium scan/PET scan และ Bone scan) และเจาะตรวจไขกระดูก

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก การรักษาหลักๆ ประกอบไปด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ปัจจุบันการรักษาค่อนข้างดี มีอัตราการรอดชีวิต 70-95%ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรคและระยะของโรค

 

มะเร็งในเด็กส่วนระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยมาด้วยอาการเดินเซ อาเจียนรุนแรง การมองเห็นผิดปกติ ชัก ปวดศีรษะ ศีรษะโตมากกว่าปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวโรค หรือชนิดของเซลล์มะเร็ง ว่ามีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่

การวินิจฉัยมะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางรังสี CT scan หรือ MRI เพื่อดูตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง และอาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อจากก้อนเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา

การรักษา การรักษาหลักสำหรับโรคนี้ คือ การผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งขึ้นกับชนิดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง

 

มะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก พบมะเร็งในเด็กชนิดนี้ได้ตั้งแต่ ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี

ลักษณะอาการของมะเร็งชนิดนี้จะแสดงเป็นก้อน และตำแหน่งของก้อน โดยอาการที่พบบ่อย คือ มีก้อนในช่องท้อง ร่วมกับมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ทีเกิดจากการแพร่กระจายของตัวโรค เช่น มีไข้ ซีด อ่อนแรง ปวดตามร่างกายหรือกระดูก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงจากการที่ก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง

การวินิจฉัย มะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก การวินิจฉัยและจำแนกระยะของโรค อาศัยการตรวจเลือด ตรวจไขกระดูก ตรวจระดับของสารที่สร้างจากเนื้องอกในเลือดหรือปัสสาวะ การตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น CT scan, bone scan, MIBG scan และการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษา ประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การฉายรังสีรักษาในบางกรณี

ประสิทธิภาพในการรักษา ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระยะเวลาของโรคที่พบ ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคไปอวัยวะอื่นแล้ว

 

มะเร็งในเด็ก ที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ ช่วงอายุของเด็กที่สามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้บ่อยคือช่วงอายุ 1-4 ปี และ 15-19 ปี

อาการมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ มะเร็งชนิดนี้ ในเด็กเล็กมักมาด้วยอาการลักษณะมีก้อนที่บริเวณช่องท้องและก้นกบ ส่วนวัยรุ่นมาด้วยอาการมีก้อนที่ต่อมเพศ เช่น อัณฑะ รังไข่ นอกจากนี้ ยังอาจมาด้วยอาการที่เรียกว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เมื่อโรคเกิดที่ต่อมไพเนียลในสมองที่เป็นต่อมควบคุมภาวะความเป็นหนุ่มสาว หรืออาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เมื่อโรคเกิดในช่องอก

การวินิจฉัยมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ การวินิจฉัยและจำแนกระยะของโรค วินิจฉัยโดยวิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนที่ก้อนมีการหลั่งออกมา การตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น CT scan, bone scan และการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

กรณีที่เป็นก้อนชนิดที่ไม่มีการหลั่งฮอร์โมน การรักษาประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา และการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก

 

มะเร็งในเด็กป้องกันไม่ได้ แต่รักษาหายขาดได้

พญ.ชญามน ทักษ์ประดิษฐ์ กุมารแพทย์ด้านโรคมะเร็งและโรคเลือดในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 เผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในเด็กได้ และส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่หากผู้ป่วยหรือผู้ปกครองสังเกตพบความผิดปกติที่น่ากังวลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทันท่วงที นั่นนับเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยอย่างมาก

สำหรับหัวใจหลักในการรักษามะเร็งในเด็กมี 3 วิธี คือ การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) การฉายแสง (radiation) และการผ่าตัด (surgery) ร่วมกับการดูแลป้องกันเรื่องการติดเชื้ออย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสหายขาดจากโรคได้สูงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ กรณีที่ตัวโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีการกลับเป็นซ้ำของโรค การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อ HLA ตรงกัน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรค 

 

 

แหล่งอ้างอิง :

samitivejhospitals

rama.mahidol

phyathai

logoline