svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง อาจเป็นโรคอะไรได้บ้าง

09 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับพิรุธให้ตรงจุด ถ้าปวดท้อง-ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง สามารถสงสัยหรืออาจสันนิษฐานว่าเป็นโรคอะไรได้บ้าง ร่วมไขข้อข้องใจไปพร้อมกัน

เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยปวดท้อง-ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง บางคนก็หายเอง ดูแลตัวเอง ขณะที่บางคนหมดเรี่ยวแรงจนต้องไปโรงพยาบาล แต่ยังมีอีกหลายคนที่เป็นๆ หายๆ ถึงขั้นเรื้อรัง นั่นเป็นเพราะอะไรกัน?

มีข้อมูลน่าสนใจโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่อง "อาการท้องเสีย" สรุปได้ดังนี้

ท้องเสีย-อุจจาระร่วง ความเหมือนที่แตกต่าง

อาการ ท้องเสีย เป็นภาษาพูดที่หมายถึงการที่คนเราถ่ายเหลวผิดปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ในทางการแพทย์เรียกว่า อุจจาระร่วง (diarrhea) ซึ่งความหมายถึงการที่คนเราถ่ายอุจจาระเหลวผิดจากปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียว ซึ่งการที่กำหนดเช่นนั้นก็เพื่อความสะดวกในการดูแลคนไข้ โดยคนไข้ที่มีอาการอุจจาระร่วง มักจะเกิดจากโรคที่อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากหมอ ขณะที่อาการท้องเสียเล็กน้อยไม่ถึงขั้นอุจจาระร่วงมักหายเองได้ โดยไม่ต้องรับการดูแลใดๆ

ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง อาจเป็นโรคอะไรได้บ้าง

โรคอุจจาระร่วง ยังสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลาที่ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน (หมายถึง มีอาการอุจจาระร่วงน้อยกว่า 7 วัน) และ อุจจาระร่วงยืดเยื้อหรือเรื้อรัง (หมายถึง มีอาการอุจจาระร่วงนานกว่า 7 วัน)

ในที่นี้จะเขียนถึง อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งพบได้บ่อยกว่าและประชาชนทั่วไปควรรู้จัก ส่วนอุจจาระร่วง ยืดเยื้อเรื้อรังเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่มีสาเหตุและการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก ผู้ที่เป็น โรคอุจจาระร่วงยืดเยื้อเรื้อรังจึงควรหาหมอเพื่อตรวจรักษาทุกราย

โดยทั่วไปหมอจะแบ่งอุจจาระร่วงออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะของอุจจาระ คือ อุจจาระเป็นน้ำหรือเหลว และอุจจาระเป็นมูกเลือด ซึ่งการรักษาทั้ง 2 กลุ่มจะแตกต่างกัน ดังนั้นเวลาที่คนไข้อุจจาระร่วงไปหาหมอ หมอจะถามเสมอว่าลักษณะอุจจาระเป็น อย่างไร มีมูกเลือดหรือมีเลือดปนหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้หมอจะตรวจอุจจาระเสมอ และอาจนำอุจจาระไปเพาะหาเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มีอาการรุนแรงหรือ ต้องนอนโรงพยาบาล

ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง อาจเป็นโรคอะไรได้บ้าง

อุจจาระร่วงเป็นน้ำ มีสาเหตุที่พบบ่อยหรือที่สำคัญดังนี้

 1. อาหารเป็นพิษ

โรคนี้มักเกิดในฤดูร้อน มักจะเกิดจากอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งหากมีการห่ออาหารไว้อย่างหนาแน่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนใน อาหารจะจเริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่อุ่นพอเหมาะ ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และ สร้างสารพิษออกมา สารพิษดังกล่าวมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้องแบบบิดๆ เป็นพักๆ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการดังกล่าวมักเกิดหลังกินสารพิษเข้าไป 2 ถึง 12 ชั่วโมง สารพิษนี้บางชนิดถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่บางชนิดก็ไม่ สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นบางครั้งแม้จะนำอาหารดังกล่าวมาอุ่นใหม่ก่อน รับประทานอาหาร ก็ยังทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงต้อง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น

ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้อีกประการหนึ่งคือมักเกิดในคนที่กินอาหารแบบเดียว กันพร้อมกันหลายคน แต่บางคนอาจมีอาการมาก บางคนมีอาการน้อย โรคนี้หาย ได้เองแต่คนไข้บางคนที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก หรืออาเจียนมาก ก็จำเป็นต้อง ได้รับการรักษา โดยให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้ปวดท้อง แก้อาเจียน

  2. ติดเชื้อไวรัสโรตา

เชื้อไวรัสโรตาเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กมากชนิดหนึ่ง มักก่อให้เกิดโรคในเด็กเล็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี มีลักษณะพิเศษคือมักเกิดในฤดูหนาว ขณะที่โรคอุจจาระร่วงจาก สาเหตุอื่นๆ มักเกิดในฤดูร้อน เด็กอาจมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดแล้วตามด้วย อุจจาระร่วง อาเจียน หรือบางคนอาจไม่มีอาการหวัดก็ได้ อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำ บางคนมีอาการน้อยและหายได้เอง แต่บางคนจะมีอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล โรคนี้มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำให้ลำไส้ลดการหลั่งน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม นมที่ไม่ย่อยจะถูก แบคทีเรียในลำไส้สลายเกิดเป็นกรด และทำให้อุจจาระร่วงมากขึ้นอีก เด็กจะถ่าย เป็นน้ำพุ่งและเป็นฟอง บริเวณก้นจะแดงเนื่องจากการระคายเคืองจากอุจจาระที่เป็น กรด เด็กที่หมอสงสัยว่าจะย่อยนมไม่ได้ อาจแนะนำให้งดนม หรือเปลี่ยนเป็นนมสูตร พิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่นนมที่ทำจากถั่วเหลือง กินประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นนมตามปกติ

โรคนี้สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ทางอุจจาระของคนไข้ ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคไม่ ควรคลุกคลีกับเด็กอื่น ผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคควรหมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด โรคนี้ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยปัจจุบันมีวัคซีนชนิดกิน ให้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่ราคายังแพงค่อนข้างมาก

3. อหิวาตกโรค

โรคนี้ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่พบบ่อย แต่ก็เป็นโรคที่มีความสำคัญ เนื่องจากคนไข้ อาจมีอุจจาระร่วงรุนแรง และหากให้การรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคติดต่อได้ง่ายทางอาหารและน้ำ คนเป็นโรคนี้จากการกินน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่เข้าไป บางครั้งอาจมีการระบาดของโรคนี้ได้ แต่โชคดีที่เชื้อ อหิวาตกโรคถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นการกินอาหารที่ทำให้สุกด้วยความร้อน จะป้องกันโรคนี้ได้

ลักษณะที่เด่นชัดของโรคนี้คือ คนไข้จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำพุ่งครั้งละมากๆ และบ่อย บางคนจะถ่ายอุจจาระเป็นลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว คนไข้จะเสียน้ำอย่างรวด เร็วจนความดันโลหิตต่ำ (ที่เราเรียกว่าช็อก) และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ติด เชื้อโรคนี้บางคนอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง ดังนั้นหากเกิดการ ระบาด ผู้สัมผัสโรคอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษา แม้จะมีอาการไม่มาก ก็ตาม

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้ได้ มีทั้งชนิดฉีดและกิน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ โดยทั่วไป ยกเว้นคนที่จะเดินทางไปในประเทศที่มีโรคนี้ชุกชุม เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อาจรับวัคซีนก่อนการเดินทางเพื่อป้องกันโรค

ถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง อาจเป็นโรคอะไรได้บ้าง

ขณะที่เรื่องราวของ “อาหารเป็นพิษ” ในโรงพยาบาลราชวิถี แชร์การแยกโรคอาการถ่ายบ่อย-ถ่ายเป็นน้ำ-ท้องเสีย-อุจจาระร่วง อาจมีสาเหตุได้มากมาย ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

1. ถ้ามีไข้ร่วมด้วย นอกจากอาหารเป็นพิษแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

– อุจจาระร่วงจากไวรัส มักพบในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด และอาจพบว่าเป็นพร้อมกันหลายคน เนื่องจากติดต่อกันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาจเป็นนานถึงสัปดาห์ก็ได้

– บิดชิเกลล่า เริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย อีก 12-24 ชั่วโมงต่อมา อาการถ่ายเป็นน้ำลดลง แต่กลายเป็นถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย คล้ายถ่ายไม่สุด ปวดเบ่ง อยากถ่ายอยู่เรื่อย (อาจถ่ายชั่วโมงละหลายครั้ง หรือวันละ 10-20 ครั้ง) โรคนี้เกิดจากการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อชิเกลล่า (shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

2. ถ้าไม่มีไข้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

– เกิดจากยา ที่พบบ่อย ได้แก่ ยาถ่าย (เช่น ดีเกลือ ยาระบายแมกนีเซีย มะขามแขก) ยาลดกรด ยารักษาโรคเกาต์ (คอลชิซิน) ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง

– เกิดจากกินสารพิษ ได้แก่ สารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง สารหนู ตะกั่ว ปรอท) พืชพิษ (เช่น เห็ดพิษ กลอย) สัตว์พิษ (เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย หอยทะเล คางคก) ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการถ่ายท้อง และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ ชักกะตุก ชาบริเวณริมฝีปากหรือใบหน้า ดีซ่าน เป็นต้น

– อหิวาต์ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ มีอาการปวดท้องถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง คล้ายอาหารเป็นพิษ อาจพบมีการระบาดของโรคในละแวกบ้านของผู้ป่วย

3. ถ้าเป็นเรื้อรัง (ถ่ายทุกวันนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย) อาจมีสาเหตุ เช่น

– เกิดจากลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้น บางคนหลังกินอาหารบางอย่าง (เช่น นม ของเผ็ด น้ำส้มสายชู เหล้า กาแฟ) ก็จะกระตุ้นให้ลำไส้ขับเคลื่อนเร็ว เกิดอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายอุจจาระเหลว  2-3 ครั้ง ภายในครึ่งชั่วโมงหลังกินอาหาร มักเป็นไม่รุนแรง แต่จะเป็นบ่อยเมื่อกินอาหารชนิดนั้นๆ อีก

– โรคลำไส้แปรปรวน พบในคนวัยหนุ่มสาวขึ้นไป มักมีสาเหตุจากความเครียด หรือจากอาหารบางชนิด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำวันละหลายครั้งทุกวันในช่วงที่มีความเครียด หรือถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ 1-2 ครั้ง หลังกินอาหารทันที อาการมักไม่รุนแรงและมีสุขภาพแข็งแรง บางคนอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ มานานหลายปี หรือนับสิบๆ ปี

– โรคพร่องเอนไซม์แล็กเทส บางคนอาจพร่องมาแต่กำเนิด บางคนอาจพร่องชั่วคราวหลังจากมีอาการท้องเดินจากการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนม ผู้ป่วยมักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ่ายเป็นน้ำหลังดื่มนมทุกครั้ง โดยทั่วไปมักมีสุขภาพแข็งแรงดี และถ้าไม่ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมก็จะไม่มีอาการ

– มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยอยู่ๆ มีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ทุกวันนานเป็นสัปดาห์ถึงแรมเดือน ต่อมาจะมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ อ่อนเพลีย บางคนอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดร่วมด้วย

– อื่นๆ เช่น เบาหวาน เอดส์ คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้งทุกวัน อ่อนเพลีย น้ำหนักลดฮวบฮาบ

ถ้าเป็นเอดส์มักมีไข้เรื้อรังร่วมด้วย

ถ้าเป็นเบาหวาน อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และหิวข้าวบ่อย ร่วมด้วย

ถ้าเป็นคอพอกเป็นพิษ มักมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น เหงื่อออกมากร่วมด้วย

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีประวัติว่าผู้ที่กินอาหารด้วยกันบางคนหรือหลายคน (เช่น งานเลี้ยง คนในบ้าน) มีอาการท้องเดินในเวลาไล่เลี่ยกัน

ในรายที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เป็นต้น ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำการถ่ายภาพลำไส้ด้วยรังสี หรือใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพิ่มเติม

 

 

source : คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล /  โรงพยาบาลราชวิถี

logoline